องค์กรสื่อ-นักวิชาการ ประสานเสียง จี้กสทช.เลื่อนแจกใบอนุญาต”12ช่องสาธารณะดิจิตอล” พฤษภาคมนี้ หวั่นเอื้อรัฐ ใช้โปรโมทผลงานตัวเอง ขัดเจตนารมย์ปฏิรูปสื่อ
17 กุมภาพันธ์ 2556- วันนี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กำหนดให้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “ทีวีสาธารณะ (ดิจิทัล) เพื่อใคร? ” ณ ห้องอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวฯ ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ.วชิระ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความตระหนักรู้ ในกระบวนการปฏิรูปสื่อและการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด ใน กระบวนการเปิดประมูลฟรีทีวีดิจิทัล สาธารณะ โดยมีนักวิชาการสื่อ นักกฎหมาย สื่อมวลชนและตัวแทนองค์กรวิชาชีพ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปสื่อและการจัดสรรคลื่นความถี่ ด้วยการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม และ การจัดสรรคลื่นความถี่ด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเตรียมเพื่อเปลี่ยนผ่านทั้งด้านเทคโนโลยีและเนื้อหา โดยเฉพาะการนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ปรับเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกไปเป็นระบบฟรีทีวีดิจิทัล จำนวน 48 ช่อง โดยแบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ดิจิทัล 3 ประเภทหลักดังนี้ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลชุมชน 12 ช่อง, สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลธุรกิจ 24 ช่อง และ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล สาธารณะ 12 ช่อง ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง กำลังเป็นประเด็นที่ สังคมตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่และพิจารณาให้ใบอนุญาต ซึ่งก็คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เป็นอย่างมากเกี่ยวกับการเปิดให้ยื่นขอฟรีทีวีดิจิทัลเพื่อการบริการสาธารณะ ด้วยวิธี Beauty Contest ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะการกำหนดคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ขององค์กรที่จะยื่นขอใบอนุญาตฟรีทีวีดิจิทัล สาธารณะ 12 ช่อง ทั้ง 3 ประเภท ยังขาดรายละเอียด รวมทั้งถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเห็นว่า สาธารณะทั้ง 12 ช่องนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการ กำหนดคุณสมบัติขององค์กร หลักเกณฑ์ ตลอดจนวิธีการที่จะยื่นขอจัดสรรและประมูลฟรีทีวีดิจิทัล สาธารณะ 12 ช่อง นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ปัญหาหลักของการปฏิรูปสื่อ คือ โครงสร้างความเป็นเจ้าของ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า เรามีสถานีวิทยุ จำนวน 526 สถานี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าถูกครอบครองโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กองทัพ ,กรมประชาสัมพันธ์ และอสมท. แต่จะเห็นว่าการผลิตรายการเทป หรือข่าว เป็นการไปเช่าช่วงผลิตทั้งสิ้น ซึ่งกสทช.ควรเปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นคิด และควรดูเจตนารมย์ของหลักการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปี2553 นอกจากนี้ ยังเห็นว่า กสทช.มีกรรมการ 11 คน ฉะนั้นโครงการใดๆ ที่เป็นโครงการใหญ่ กรรมการที่แบ่งกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน ไม่ควรพิจารณาหรือตัดสินใจกันฝ่ายเดียว เพราะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับอนาคตประเทศ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า รู้สึกแปลกใจว่า การจัดทำหลักเกณฑ์ ช่องทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ที่จนถึงขณะนี้ กสทช.ยังไม่มีกระบวนการใดๆ ที่เปิดโอกาสให้สังคม หรือสาธารณะ มีส่วนร่วมพิจารณา ทั้งนี้ หากแม้กฏหมายจะกำหนดให้ กระทรวง หรือหน่วยราชการ มีสิทธิ์ขอใบอนุญาตได้ และโดยเฉพาะช่องที่ทำเพื่อความมั่งคง ยังเปิดโอกาสให้หากำไรจากการโฆษณาได้ แต่กฎหมาย องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 53 ก็เปิดช่องให้อำนาจ กสทช.เช่นกันว่า สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการออกใบอนุญาตได้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะประเด็นช่องรายการทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ส่วนตัวเห็นว่า กสทช.ควรมีกลไกล โดยการเปิดรับฟังความเห็น จากประชาชน และควรให้สถาบันการศึกษา ที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ร่วมพิจารณาด้วย เพราะนิยามทีวีสาธาณะ คือการส่งเสริมให้ความรู้กับทุกคน และต้องมีอิสระเพียงพอ “หากกสทช.สร้างกลไกลเหล่านี้ได้ ผมเชื่อว่าจะป้องกันข้อครหาที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งผมเองก็มั่นใจว่า ในช่วงพิจารณาออกใบอนุญาต กสทช.จะลำบากใจ เพราะจะมีคนยื่นขอเข้ามาเป็นร้อยๆ คำขอ และต้องอธิบายให้ได้ว่า Beauty Contest ของกสทช.มันเป็นยังไง เพราะหากพูดถึงการพิจารณาความสวยมันแล้ว มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน หากเป็นไปได้ กสทช.ยังไม่ควรจะรีบพิจารณา ควรเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม” ทั้งนี้ เห็นว่า หากหน่วยงานราชการ หรือ กระทรวง ได้ครอบครองช่องสาธารณะ ทั้ง 12 ช่อง จะเปรียบเสมือนการย้อนยุค และ ขัดต่อเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อ ที่ต้องการให้รัฐถือครองคลื่นน้อยลง กระจายอำนาจให้สาธารณะมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะย้อนกลับไปยุคที่สื่อ เป็นสื่อของรัฐ ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม ระบุว่า หากช่องสาธารณะดำเนินการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อ ก็จะส่งผลให้จากนี้ คนดูจะได้รับชมโฆษณาชวนเชื่อเพิ่มอีก 12ช่อง ทั้งนี้ กสทช.ควรพิจารณาว่า จะมีเป้าหมายการคัดสรรอย่างไร และไม่อยุ่ในอิทธิพล และการเข้าถึงนโยบายของประชากรผู้รับสารอย่างไร ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ก่อนการให้ใบอนุญาต หรือ เปิดประมูล สิ่งสำคัญ คือการทำวิจัยเชิงวิชาการให้ชัดเจนว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการ จะให้ใครทำ, ทำไปเพื่ออะไร และจะทำอย่างไร วิสัยทัศน์ของประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจน หรือการทำวิจัยในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งกสทช.กำหนดจะดำเนินการเรื่องนี้ประมาณเดือนมีนาคม ส่วนตัวเห็นว่าควรถอยเรื่องนี้ออกมาก่อน ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี ยุคดิจิตอลของไทยนั้น ยังไม่มีพูดคุยกันว่าจะนำดิจิตอลไปใช้อย่างไร เพื่อให้เกิดช่องทางที่กว้างมากขึ้น ซึ่งแนวทางของตนเอง เห็นว่า ช่องทีวีช่องสาธารณะ ควรทำวิจัยให้เสร็จก่อนให้ใบอนุญาต เพราะไม่เช่นนั้น จะเปิดโอกาสให้ใครที่ได้ครอบครอง ใช้เป็นกระบอกเสียงแล้ว และยังใช้เอาไปเป็นเครื่องมือหากินได้ด้วยหลังจากได้ใบอนุญาต ผศ.ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ระบุว่า จะนำเรื่องทั้งหมดไปเสนอเพื่อแก้ไข ซึ่งการทำงานของกรรมการกระจายเสียง 5 คนที่รับผิดชอบ ต่างมีความเห็นแตกต่างกัน แต่การรับฟังความเห็นสาธารณะ คิดว่าจะช่วยให้ได้ข้อมูลรอบด้านมาก และคิดว่าเสียงจากสาธารณะจะมีคามสำคัญ เพราะจะเป็นตัวช่วยกำหนดให้เกิดการแฟร์ และส่วนตัวก็เห็นว่า กสทช.ควรถอยเรื่องนี้ออกมาก่อนเพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุด ที่มา : http://patnews.wordpress.com/2013/02/17/1407/