‘กสทช.’ถอย!แจกไลเซนส์’ทีวีดิจิทัล’ ‘กสทช.’ พร้อมถอย ตามกรอบเดิมยื่นขอใบอนุญาต ‘ทีวีดิจิทัล สาธารณะ’ 12 ช่อง มี.ค.นี้ หลังภาคสังคมจี้เปิดรับฟังความเห็น กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติให้ชัดเจน
17 ก.พ. 56 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงานเสวนาเรื่อง “ทีวีสาธารณะ(ดิจิทัล)เพื่อใคร?” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความตระหนักรู้ ในกระบวนการปฏิรูปสื่อและการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เพื่อให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติขององค์กร หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอจัดสรรใบอนุญาต(Beauty Contest) ทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะ 12 ช่อง ซึ่งจะเป็นประเภทแรกจากทั้งหมด 48 ช่อง ที่กสทช.จะดำเนินการ โดยกำหนดกรอบเวลาให้ผู้สนใจยื่นขอรับใบอนุญาตในไตรมาสแรกหรือราวเดือน มี.ค.2556 และจะพิจารณาออกใบอนุญาตในเดือน พ.ค.2556 ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. และกรรมการ กสท. กล่าวว่าตามกรอบเวลาการให้ใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ไตรมาสแรกจะเริ่มที่โครงข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวก (เสาส่งสัญญาณ) ตามมาด้วยการยื่นขอใบอนุญาต “ทีวีดิจิทัลสาธารณะ” 12 ช่อง ,เดือน ก.ค.-ส.ค. ประมูลทีวีดิจิทัลธุรกิจ 24 ช่อง และไตรมาสสุดท้ายออกใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล ชุมชน 12 ช่อง ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตกิจการวิทยุและโทรทัศน์ จะมีความโปร่งใส มากกว่าระบบสัมปทานในอดีต ซึ่ง กสทช.และ กสท. มีหน้าที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตในกิจการแต่ละประเภทอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ทั้งนี้ ในกิจการช่องทีวีดิจิทัล สาธารณะที่จะออกในอนุญาต ประเภทแรก ขณะนี้ยังไม่สรุปหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาต โดยส่วนตัวเห็นตรงกันว่าควรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตอย่างรอบคอบ โดยจะนำข้อวิตกจากทุกกลุ่มไปหารือกับบอร์ด กสท. ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าการรับฟังความเห็นสาธารณะ จะทำให้ได้รับข้อมูลรอบด้านมากขึ้น และเห็นด้วยว่าควร “ชะลอ”การยื่นขอใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล สาธารณะ ตามกรอบเดิมในเดือยน มี.ค.นี้ เพื่อทำให้การออกหลักเกณฑ์ต่างๆ มีความรอบคอบ ชัดเจน และโปร่งใส ซึ่งหากเร่งการทำงานไปพร้อมการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น แม้การ “ยื่นขอใบอนุญาต” ตามคุณสมบัติจะช้ากว่ากรอบเดิมในเดือน มี.ค. แต่อาจสามารถพิจารณาการ “ให้ใบอนุญาต” ทันในเดือนพ.ค.นี้ เช่นเดิม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรองประธานกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กล่าวว่าหลักการพิจารณาพ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ ปี51 ที่กำหนดให้มีองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ทั้งสาธารณะ,ชุมชน และธุรกิจ ภายใต้ระบบใบอนุญาต ที่มีระยะเวลาประกอบกิจการวิทยุ 7 ปี และโทรทัศน์ 15 ปี เพื่อเปลี่ยนจากระบบสัมปทาน เพื่อต้องการแก้ปัญหา “โครงสร้างความเป็นเจ้าของคลื่นความถี่” ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ, กรมประชาสัมพันธ์ และอสมท เพื่อกระจายการครอบครองสื่อไปสู่สาธารณะ ชุมชน และธุรกิจ ด้วยการกระบวนการจัดสรรอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.วิทยุทีวีปี 51 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ให้อำนาจ กสทช.ทั้ง 11 คน ทำงานร่วมกันในการกำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาจัดสรรคลื่นฯ ในกิจการที่จะส่งผลต่อสังคมและประชาชน แต่การทำงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรคลื่นฯ 3จี และทีวีดิจิทัล กสทช.กลับแบ่งแยกการทำงานเป็น 2 คณะ ฝ่ายละ 5 คน อีกทั้งบางกรณีที่ต้องมีการโหวตจะมีเสียงข้างมากเห็นด้วย 4 คน หรือ 3 คนบ้างในทั้ง 2 กิจการ เห็นว่า กสทช.ทั้งคณะ 11 คน ควรพิจารณาประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อสังคมและประชาชนร่วมกัน ไม่ควรพิจารณาหรือตัดสินใจกันฝ่ายเดียว ในกรณีการออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะ 12 ช่อง กสท.จะต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต เนื่องจากเป็นสื่อประเภท “สาธารณะ” ไม่ใช่เพียงรับฟังความเห็นจากคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งขึ้นเท่านั้น เพราะหากพิจารณารายชื่อบุคคลที่เป็นคณะอนุกรรมการฯ ของ กสทช.ในขณะนี้ จะเชื่อมโยงกลุ่มทุนเดิมและบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ ที่มีแนวโน้มจะขอไลเซ่นส์ทั้งสิ้น “กสท.และกสทช. มีหน้าที่ต้องออกหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทุกประเภท อย่างโปร่งใส เป็นธรรม มีความสมดุล ตามเจตนารมย์ของกฎหมาย” นายสมชายกล่าว นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นบีซี กล่าวว่าตามกรอบเวลาที่ กสท. กำหนดไว้จะเปิดให้ผู้มีคุณสมบัติยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประเภทสาธารณะในเดือน มี.ค.นี้ แต่ขณะนี้ภาคสาธารณะและสังคม ยังไม่รู้กระบวนการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติ หลักการพิจารณาให้ใบอนุญาต การจัดแบ่งประเภท จำนวนช่องทีวีดิจิทัล สาธารณะ ซึ่งพ.ร.บ.วิทยุทีวีปี 51 กำหนดไว้ 3 ประเภท คือ 1. ประเภทส่งเสริมความรู้ 2.เพื่อความั่นคงของรัฐ และ3.ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชน หากพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นขอ ทีวีดิจิทัล สาธารณะ ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น ดังนั้นหากใบอนุญาตอยู่ในกลุ่มหน่วยงานรัฐจำนวนมาก เท่ากับเป็นการ “ย้อนยุค” แนวทางปฏิรูปสื่อที่สังคมต้องการเห็น และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการกระจายการถือครองคลื่นความถี่วิทยุและทีวี ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐ “กสท. ควรมีกลไกลดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัล สาธารณะ และควรให้สถาบันการศึกษา ที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ร่วมพิจารณาด้วย เพราะนิยามทีวีสาธาณะ คือการส่งเสริมให้ความรู้กับทุกคน เพื่อป้องกันข้อครหาที่จะเกิดขึ้นได้ในการให้ใบอนุญาต เพราะเชื่อว่าจะมีหน่วยงานรัฐและกลุ่มที่สนใจยื่นขอเป็น 100 ราย และต้องอธิบายให้ได้ว่า Beauty Contest ของ กสท. มีหลักเกณฑ์อย่างไร และความเหมาะสมของผู้รับใบอนุญาตแต่ละราย” นายอดิศักดิ์กล่าว อย่างไรก็ตามมองว่ากรอบเวลาการยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิทัล สาธารณะในเดือน มี.ค.นี้ ยังเร็วเกินไป เพราะ กสท.ยังไม่มีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะและสังคม เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ใบอนุญาตอย่างรอบคอบ นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม(ประเทศไทย) กล่าวว่าหากผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล สาธารณะ ดำเนินการอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไปเป็นไปตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อ จะส่งผลให้สังคมไทยจะมี “ทีวีโฆษณาชวนเชื่อ” เพิ่มอีก 12 ช่อง และไม่มีผู้รับชมข่าวสารจากทีวีสาธารณะ และเป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างไม่เกิดประโยชน์ จะเห็นได้ว่าสัดส่วนผู้มช่อง 11 ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะ มีเพียง 1.5% ของผู้ชมไทยทั่วประเทศเท่านั้น โดยเป็นสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นในการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทีวีดิจิทัล สาธารณะ กสท. ต้องกำหนดเป้าหมายการคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างชัดเจนและโปร่งใส พร้อมกำหนดวัตถุประสงค์การเข้าถึงประชากรในแต่ละกลุ่มที่ถูกละเลย ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากระบวนการก่อนการให้ใบอนุญาต หรือเปิดประมูลทีวีดิจิทัล ทั้ง กสทช.และกสท. จะต้องทำวิจัยและศึกษาเชิงวิชาการ ด้านภูมิทัศน์สื่อ ที่จะเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของประเทศในการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เป็นอย่างไร อีกทั้งหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตมีผลการศึกษาทางวิชาการสนับสนุนอย่างไร “ปัจจุบันยังไม่มีการทำวิจัยเรื่องการจัดสรรคลื่นทีวีดิจิทัล ว่าจะส่งผลต่อสังคมและประเทศอย่างไร ขณะที่กรอบเวลาการยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิทัล สาธารณะ จะเริ่มในเดือนมี.ค.นี้ มองว่า กสท.ควรถอยออกมาก่อน เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นและทำงานวิจัยอย่างรอบด้าน ก่อนการให้ใบอนุญาต เพราะไม่เช่นนั้นจะเปิดโอกาสให้มีการครอบครองคลื่นฯ ที่ใช้เป็นกระบอกเสียงให้รัฐ และใช้เป็นเครื่องมือหากิน โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ” ดร.สุภาพรกล่าว
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20130217/152089