กสทช.สอบผู้ประกาศความหวังดีที่เป็นผลเสีย กสทช. สอบผู้ประกาศความหวังดีที่เป็นผลเสีย : บทความพิเศษ โดยบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กสทช.สอบผู้ประกาศความหวังดีที่เป็นผลเสีย กสทช. สอบผู้ประกาศความหวังดีที่เป็นผลเสีย : บทความพิเศษ โดยบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศเรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อ่านแล้วทั้งตกใจและแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับ กสทช. ที่ย้อนยุคกลับไปสมัย กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) ที่มีส่วนงานระดับกองในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในอดีต แม้เป็นความปรารถนาดีที่จะยกระดับกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของเมืองไทย แต่ความหวังดีของ กสทช. กำลังทำให้เกิดความสับสนและเป็นผลเสีย กล่าวโดยสรุป ดังนี้ 1. นิยาม “ผู้ประกาศ” “ผู้ประกาศ” ต่างกับ “ผู้ดำเนินรายการ” ที่ลงมือลงปากว่ากันตั้งแต่ต้นจนจบรายการ สุดแต่จะเป็นรายการประเภทอะไร ส่วน “ผู้จัดรายการ” บ้างก็ใช้เหมือนกับผู้ดำเนินรายการ และบ้างก็ใช้กับคนหลังฉากหลังเวที เมื่ออ่านหลักสูตรการอบรมในภาคผนวกแล้ว “ผู้ประกาศ” ตามความหมายของ กสทช. เป็นหมดทุกอย่าง ที่ไม่อาจมองข้าม คือ ผู้ประกาศทางวิทยุกระจายเสียง ใช้เสียง แต่ผู้ประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ ใช้ทั้งเสียงและบุคลิกทางกายภาพ ข้อนี้ ถ้าไม่ยกเลิกประกาศ ก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ชัดเจน 2. สถานีวิทยุชุมชนโดนด้วย ตามี ยายมา ตาสี ยายสา ต้องมารับการอบรมด้วย ถ้าอยากเป็นผู้ประกาศสถานีวิทยุชุมชนในท้องถิ่นของตน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ สถานีวิทยุชุมชนประมาณ 5,500 แห่ง ที่มาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตชั่วคราวกับ กสทช. นั้น สื่อสารด้วยภาษาถิ่น (จะยกเว้นก็วิทยุชุมชนในกรุงเทพฯ แต่ก็ได้ยินบ่อยที่ส่งภาษาถิ่น เพื่อคนถิ่นเดียวกันที่มาทำงานในกรุงเทพฯ) วัตถุประสงค์ของวิทยุชุมชนตามอุดมการณ์ ไม่ได้สลับซับซ้อนหรือกว้างขวางยาวรีเหมือนสื่อกระแสหลัก หรือแม้แต่สื่อวิทยุกระจายเสียงหลักอย่างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือสถานีวิทยุ อสมท. คนละเรื่องคนละฝั่งอย่างเห็นได้ชัด ข้อนี้ ถ้าไม่ยกเลิกประกาศ ก็ต้องแก้ไขกันใหม่ 3. ผู้ประกาศต้องมีระดับ กสทช. กำหนดการอบรมไว้ 3 ระดับ คือ ต้น กลาง และสูง ความต่างที่ว่านี้ วัดกันโดย 1) ค่าอบรม ระดับต้น 4,000 บาท ระดับกลาง 5,000 บาท และระดับสูง 6,000 บาท 2) ใช้ความรู้ของคนจบปริญญาตรี ถือว่าผ่านระดับต้น ไปเสียเงินอบรมระดับกลาง จนถึงเวลาหนึ่ง ค่อยมาสอบระดับสูงเอาตั๋ว (บัตรผู้ประกาศ) ไป และ 3) ใช้หัวข้อในการอบรมให้ต่างกัน เช่น หัวข้อกฎหมาย ในระดับต้น อบรมกฎหมายต้องรู้ และสิทธิผู้บริโภค ระดับกลาง อบรมสิทธิของสื่อในการสื่อสารและประกอบการ และสิทธิและหน้าที่พลเมือง ระดับสูง อบรมความรู้เกี่ยวกับ กสทช. กับสื่อ ทุกระดับมีหัวข้อที่เหมือนกันคือกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประเด็นก็คือ เมื่อทำหน้าที่ผู้ประกาศ (ตามนัยของ กสทช. ที่ไม่ได้อ่านข่าวอย่างเดียว) ถ้าทำผิดหรือละเมิดก็เหมือนกันหมด เพราะก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน จึงไม่มีสูง กลาง หรือต่ำ 4. ปริญญาตรีที่อื่นต้องสอบระดับต้น ประกาศของ กสทช. ระบุให้ผู้จบสาขาวิชาสื่อสารมวลชน (วิทยุ-โทรทัศน์) ถือว่าผ่านการอบรมระดับต้น สามารถสมัครเข้ารับการอบรมระดับกลางได้เลยมี 2 ประเด็น คือ 1) เป็นเรื่องยากที่ระบุว่าคนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์เก่งกว่า หรือพูดภาษาไทยชัดกว่า หรือใช้ภาษาไทยได้มาตรฐานกว่าคนจบปริญญาสาขาวิชาอื่นๆ ในแวดวงสื่อฯ คนเขียนหนังสือเก่งๆ หรือเป็นผู้ประกาศเก่งๆ ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์มีมากมาย 2) ผู้ที่จบเอกสื่อสารมวลชนในอดีตเรียนหมดทั้งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพนิ่ง ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เช่นที่จุฬาฯ แต่ใช้ปริญญาว่า นิเทศศาสตรบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) คนพวกนี้คงต้องอบรมระดับต้น ถ้าอยากเป็นผู้ประกาศ เพราะปริญญาไม่ได้วงเล็บว่า วิทยุ-โทรทัศน์ ข้อนี้ ถ้าไม่ยกเลิกประกาศ ก็ต้องแก้ไขเงื่อนไขกันใหม่แล้ว ชอบแล้วที่ กสทช. จะเป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพนี้ แต่ไม่น่าจะมีกฎกติกาที่ตายตัวเหมือนที่ประกาศฉบับนี้ สภาพการแข่งขันระหว่างองค์กรสื่อปัจจุบัน ต่างก็ต้องพัฒนาบุคลากรให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือ จึงเห็นว่า กสทช. น่าจะยกเลิกประกาศฉบับนี้ และใช้วิธีร่วมกับองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในการพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานการเป็นผู้ประกาศ ผู้ดำเนินรายการ ผู้จัดและผลิตรายการ อย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคมจะดีกว่า
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20130305/153192/กสทช.สอบผู้ประกาศความหวังดีที่เป็นผลเสีย.html