ลุ้นเคาะสูตรประมูล “ดิจิทัลทีวี” 8 ยักษ์บรอดแคสต์ ทุ่มทุน-ร่วมวงชิงดำ
เมื่อภาพการประมูลดิจิทัลทีวี เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ภายหลังจากมีรายงานผลการศึกษาราคาตั้งต้นการประมูลโทรทัศน์ดิจิทัล ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีราคาตั้งต้นประมูลดิจิทัลทีวี ประเภทธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง ที่จะมีอายุ 15 ปี แบ่งเป็นช่องรายการคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง ราคา 1,000-3,000 ล้านบาทต่อช่อง ส่วนช่องคุณภาพทั่วไป (SD) อีก 20 ช่อง ราคาประมูลไม่เกินช่องละ 500 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 หมวดได้แก่ช่องข่าว 5 ช่อง วาไรตี้ 10 ช่อง และช่องเด็ก 5 ช่อง ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อช่อง โดยมีเพดานการถือครองสิทธิ์สูงสุด 2 ช่องต่อผู้ประกอบการ ล่าสุดมีการปรับสูตรช่องใหม่เป็น 3-7-7-7 แบ่งเป็นช่อง HD 7 ช่อง ช่องข่าว 7 ช่อง วาไรตี้ 7 ช่อง และช่องเด็ก 3 ช่อง ทำให้อาจจะมีการปรับลดราคาตั้งต้นลงอีก ในส่วนของช่อง HD เนื่องจากจำนวนช่องเพิ่มขึ้น ส่วนช่องเด็กก็ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องปรับราคาเพิ่มหรือไม่ และถ้าเพิ่มราคาจะเหมาะสมหรือไม่ เมื่อโครงร่างของราคาตั้งต้นค่อยๆถูกเฉลย ทำให้ผู้ประกอบการได้คำนวณศักยภาพ ดังนั้นท่าทีของผู้ประกอบการจึงเริ่มคึกคักขึ้น”ปัญญา นิรันดร์กุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงความชัดเจนของการเข้าร่วมประมูลดิจิทัลทีวีว่า เตรียมนำ 2 ช่อง คือ เวิร์คพอยท์ทีวี เข้าร่วมประมูลประเภทช่องวาไรตี้ และช่อง 6 ที่เกิดจากบริษัท ฟรีไซซ์ บรอดแคสติ้ง จำกัด เข้าร่วมประมูลช่องเด็ก ส่วนรายละเอียดของเม็ดเงินลงทุนอยู่ในระหว่างศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ตามมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่น้อยกว่าปีละ 350-400 ล้านบาท เพียงพอต่อการลงทุนครั้งใหม่ “วันนี้ภาพเบื้องต้นของการประมูลเริ่มชัดเจนขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากศึกษาข้อมูลมานาน บวกกับประสบการณ์จากการทำช่องทีวีดาวเทียมมา 1 ปี วันนี้เวิร์คพอยท์พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลดิจิทัลทีวี” ไม่เพียงเท่านั้น “ปัญญา” ยังประกาศว่าจะลงทุนขยายอีก 8 สตูดิโอ งบฯลงทุน 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการอีก 7 ราย ที่ประกาศความพร้อมเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เริ่มที่ผู้ประกอบการฟรีทีวี 2 หลักอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งประกาศตัวตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ว่า หากมีความชัดเจนพร้อมเข้าร่วมประมูลแน่นอน ขณะที่ “อเนก เพิ่มวงศ์เสนีย์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พร้อมร่วมประมูลดิจิทัลทีวีเตรียมงบฯไว้ 6,000 ล้านบาท รวม 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง HD 1 ช่องและช่องคุณภาพทั่วไป (SD) 2 ช่อง ทั้ง 3 หมวดคือ วาไรตี้ ช่องข่าว และช่องเด็ก รวมถึงเดินหน้าจับมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสะสมคอนเทนต์ให้พอต่อการทำช่อง ก่อนหน้านี้ “สุทธิชัย หยุ่น” แห่ง เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ออกมากล่าวถึงการเพิ่มทุนของเครือเนชั่น 3 บริษัท รวม 2,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมยื่น ประมูลดิจิทัลทีวีใน 3 ช่อง คือข่าว วาไรตี้ และเด็ก ฟาก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ก็เตรียมงบฯสำหรับการเข้าร่วมประมูลดิจิทัลทีวีเช่นกัน ทั้งในส่วนของวาไรตี้ และช่องเด็ก โดย “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานแพลตฟอร์ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กล่าวว่า แกรมมี่ถือว่าอั้นมานาน ที่ผ่านมาไม่เคยมีพื้นที่สื่อเป็นของตัวเอง วันนี้ทุกอย่างเปิดกว้าง พอที่จะทำการค้าได้ ทำให้บริษัทรุกเข้ามาทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบ ไม่เพียงบิ๊กบรอดแคสต์รายใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ประกาศเชิงยื่นความจำนงขอ เข้าร่วมชิงเม็ดเงินโฆษณาแล้ว ผู้บริหารลิขสิทธิ์การ์ตูนอย่าง บริษัท การ์ตูนมีเดีย จำกัด เจ้าของช่อง “การ์ตูนคลับ” และบริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เจ้าของช่อง “แก็งค์ การ์ตูน” ก็เตรียมเข้าร่วมประมูลช่องเด็กด้วย จะมีก็เพียง “อาร์เอส” ที่ไม่รีบร้อน ขอให้ทุกอย่างนิ่งจึงจะตัดสินใจอีกครั้ง จากความเชื่อที่ว่าการออกอากาศด้วยรูปแบบไหน ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะผู้บริโภคจะติดตามดูหรือไม่ขึ้นกับคอนเทนต์เป็นสำคัญ เรียกได้ว่าการประมูลดิจิทัลทีวี กลายเป็นธุรกิจเนื้อหอมที่หลายผู้ประกอบการต่างออกตัวว่าจะร่วมวงชิงดำในธุรกิจ หวังสร้างโอกาส ขยายการเติบโตของธุรกิจ ตามเป้าหมายของแต่ละบริษัท
ที่มา : http://www.prachachat.net