“สุภิญญา” ชง กสท.วางเงื่อนไขให้ “ช่อง 5-ช่อง 11” ปรับตัว แลกอัพเกรดเป็นทีวีดิจิตอล
“สุภิญญา” ชง กสท.กำหนดเงื่อนไขให้ “ช่อง 5-ช่อง 11” ปรับตัวแลกอัพเกรดเป็นทีวีดิจิตอล ทั้งเปลี่ยนผังรายการ-ขีดเส้นคืนคลื่นอนาล็อก จี้ออกรายละเอียดวิธีประกวดราคา ชิงไลเซ่นส์ “ช่องสาธารณะ” หวั่นหน่วยงานรัฐเหมาเรียบ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสท. ในวันที่ 25 มี.ค.2556 คาดว่าจะมีการพิจารณาว่าจะอัพเกรดการส่งคลื่นความถี่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส จากระบบอนาล็อกไปเป็นระบบดิจิตอลเลย ซึ่งจะทำให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (ไลเซ่นส์) ทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ จากเดิมทั้งหมด 12 ช่อง เหลือเพียง 8 ช่วง โดยกรณีไทยพีบีเอส ที่ขอมา 2 ช่อง ตนยอมรับได้ เนื่องจากมีกฎหมายของตัวเอง กำหนดเรื่องโครงสร้างการบริหารงาน รวมถึงการวางผังรายการให้ต้องนำเสนอรายการเพื่อสาธารณะ ขณะเดียวกันยังเตรียมกำหนดเวลาคืนคลื่นความถี่ระบบอนาล็อกให้ กสทช.ไปจัดสรรใหม่ในเวลาที่แน่นอน “ต่างกับช่อง 5 และช่อง 11 ที่เห็นว่า หากจะอัพเกรดจากอนาล็อกไปเป็นดิจิตอลเลย ควรจะกำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้ต้องปรับตัว อย่างช่อง 5 ควรมีเงื่อนไขเรื่องการหาโฆษณาและการวางผังรายการ ให้มีรายการเพื่อสาธารณะมากขึ้น ส่วนช่อง 11 จะต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายกลางๆ ได้เข้ามาใช้พื้นที่ของช่อง 11 ด้วย เนื่องจากทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะ ควรจะเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว นอกจากนี้ ยังกำหนดระยะเวลาให้ทั้ง 2 ช่องคืนคลื่นความถี่ระบบอนาล็อก เร็วกว่าที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท คือ 10 ปี เพราะจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น อาทิ นำไปทำทีวีช่องใหม่หรือให้บริการอินเตอร์เน็ตได้” น.ส.สุภิญญากล่าว น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ที่ประชุม กสท.กำหนดเงื่อนไขบางอย่าง หากต้องการจะอัพเกรดช่อง 5 และช่อง 11 โดยไม่ต้องขอไลเซ่นส์ ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสในการปฏิรูปสื่อของรัฐ เพราะช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดี ที่ตนคิดว่าอาจจะเป็นโอกาสสุดท้าย ในการต่อเรื่องเพื่อกำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้สื่อของรัฐ โดยเฉพาะช่อง 5 และช่อง 11 ได้ปรับตัว กรรมการ กสท.รายนี้ ยังกล่าวว่า ส่วนไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะที่เหลือ ที่ใช้วิธีการคัดเลือกแบบประกวดราคา หรือ Beauty Contest ที่ในกฎหมายระบุคุณสมบัติผู้ที่สามารถยื่นเอกสารเข้าประกวดราคาได้ 3 กลุ่ม 1.หน่วยงานของรัฐ 2.สถาบันการศึกษา และ 3.มูลนิธิหรือสมาคม ตนอยากให้มีการกำหนดโควต้า อาทิ ให้หน่วยงานของรัฐไม่เกิน 3-4 ช่อง สถาบันการศึกษา 2-3 ช่อง และมูลนิธิหรือสมาคม 2-3 ช่อง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐได้ไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะไปทั้งหมด ที่สำคัญอยากให้มีการกำหนดเกณฑ์การ Beauty Contest อย่างละเอียด เพราะตอนนี้มีการกำหนดแค่ว่า ใครมีคุณสมบัติในการยื่นเอกสารเข้าประกวดราคาบ้าง ซึ่งจากที่ตนไปดูงานที่ประเทศสเปน พบว่าจะมีการกำหนดเกณฑ์ในการให้คะแนนไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ความพร้อมทางเทคโนโลยีและสตูดิโอ 2.ความพร้อมด้านเศรษฐกิจการลงทุน และ 3.การจัดวางเนื้อหาและผังรายการ “ส่วนตัวเห็นว่า กสท.ควรจะนำมาปรับใช้ได้ โดยอาจจะมีการแบ่งคะแนนแต่ละหัวข้อ จากนั้นให้กรรมการ กสท.ลงคะแนน แล้วให้ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ โดยจะต้องมีการเปิดเผยคะแนนที่กรรมการ กสท.แต่ละคนลงด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตอบคำถามกับสังคมได้” น.ส.สุภิญญากล่าว น.ส.สุภิญญายังกล่าวว่า ตนกังวลใจว่าหากท้ายสุด หน่วยงานของรัฐได้ไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะไปทั้งหมด จะทำให้การปฏิรูปสื่อให้ออกจากหน่วยงานของรัฐหยุดลง แล้วท้ายสุดจะนำไปสู่ระบบเช่าช่วงและเก็บหัวคิวตามเดิม ซึ่งผู้ที่มาเช่าช่วงก็ไม่กล้าทำอะไรกับหน่วยงานของรัฐเจ้าของช่องนั้นๆ จึงมีอีกข้อเสนอว่าหากหน่วยงานของรัฐได้รับไลเซ่นส์ไป ควรจะมีข้อกำหนดว่าควรจะให้มีคณะกรรมการนโยบายขึ้นมาบริหารจัดการช่องอีกที โดยจะต้องมีการเชิญคนหน่วยงานเข้าร่วมด้วย เพื่อไม่ให้การบริหารจัดการช่องนั้น ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอธิบดี ปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรีเหมือนในอดีต ซึ่งจะไม่ต่างจากช่อง 11 ในปัจจุบันเลย กลายเป็นว่ามีช่อง 11 เพิ่มขึ้นมาหลายๆ ช่องแทน
ที่มา : http://www.isranews.org/component/content/article/57/20094-dtv.html