“คลื่นรบกวน”ดิจิทัลทีวี(2) : สนามแข่งขันที่”ยัง”ไม่เท่าเทียม
กระแสความตื่นตัวของ”ดิจิทัลทีวี”ในบ้านเรากำลังไต่เพดานสูงขึ้นๆ จนพอจะกล่าว ได้ว่าบรรยากาศแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศแบบเดิม”อนาล็อก”ให้ไปสู่ระบบ”ดิจิทัล”ให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ยากต่อการเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีของวงการโทรทัศน์ไทย
การเปลี่ยนผ่านสู่การยกเลิกออกอากาศแบบอนาล็อก( Analogue TV switch off : ASO ) และการเริ่มต้นยุคดิจิทัล ( Digital TV switchover : DSO) ที่เป็นการปรับเปลี่ยน”คลื่นความถี่”ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะมาจัดสรรใหม่ ด้วยเทคโนโลยีแตกช่องได้เพิ่มขึ้นจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล
แต่ประสบการณ์ในหลายๆประเทศทั่วโลก ล้วนแต่ต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากในระยะต้นแล้วปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อระยะเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลา ASO ไปสู่ DSO ระหว่าง 5-10 ปี
นี่คือโจทย์ใหญ่เป็นความท้าทายของประเทศไทย อย่าปล่อยให้อยู่บนบ่าความรับผิดชอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)แต่เพียงองค์กรเดียว
การประมูลดิจิทัลทีวีในประเทศไทยจำนวน 24 ช่องกำลังจะเกิดขึ้นภายในครึ่งหลังของปีนี้หรือราวปลายไตรมาสที่สาม กำลังถูกจับตามองจากวงการดิจิทัลทีวีทั่วโลก เพราะถือเป็นครั้งแรกในโลกที่จะมีการประมูลช่องดิจิทัลทีวีในจำนวนมากขนาดนี้
ประเทศส่วนใหญ่ที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล ล้วนแต่เกิดจากการจัดสรร”คลื่นความถี่”หรือใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายเก่าในระบบอนาล็อก เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเต็มใจและหลายประเทศได้ใช้”องค์กรสื่อสาธารณะ”เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
ประเทศอังกฤษให้”บรรษัทกระจายเสียง”หรือสถานีโทรทัศน์บีบีซีเป็นหัวหอกสำคัญ ส่วนประเทศญี่ปุ่นให้สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ดิจิทัลทีวีในระบบ High Definition อย่างเต็มรูปแบบ
แต่ประเทศไทย”สถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส”เป็นเพียงผู้รับใบอนุญาตให้ใช้”ช่องดิจิทัลทีวีประเภทสาธารณะ” ในขณะที่บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน)ที่มีสถานะกึ่งรัฐกึ่งเอกชนใกล้เคียงกับ NHK อยู่ในสถานะที่ต้องลงมาแข่งขันประมูลช่องดิจิทัลทีวีแต่ยังมีความได้เปรียบในการคงอยู่ของระบบอนาล็อกอย่างไม่มีกำหนด
กสทช.เป็นหน่วยงานหลักที่ภารกิจสำคัญนี้น่าจะเป็น”โจทย์ยาก”มากกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์สำหรับโทรศัพท์ 3G หลายเท่า เพราะ”ผู้เล่นเก่า”กับ”ผู้เล่นใหม่”มีมากกว่าการประมูล3Gหลายเท่าที่ไม่มี”ผู้เล่นใหม่”รายใดมี”เงินทุน”และพื้นฐานโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากเท่ากับ 3 รายเดิมคือเอไอเอส,ทรูมูฟและดีแทค
กสทช.มีหน้าที่สำคัญที่สุดจะต้องทำให้เกิด”สนามแข่งขันที่เท่าเทียม”( Level Playing Field )ให้มากที่สุด ท่ามกลาง”ข้อจำกัด”มากมายที่เกิดขึ้นจากสภาพ”กึ่งผูกขาด”ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยในระบบอนาล็อกที่อยู่ในมือของสถานีโทรทัศน์ 6 ช่องมายาวนาน จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์เพียง 2 แห่งคือช่อง 3 กับช่อง 7 เท่านั้นที่มีส่วนแบ่งคนดูและเงินรายได้โฆษณามากกว่า 80 %
ส่วนช่อง 5 กับช่อง 9 ที่มีการบริหารงานกึ่งราชการไม่สามารถยกระดับความน่าสนใจของ”เนื้อหา”ให้แย่งชิง Eyeball หรือลูกตาของคนดูให้มาดูได้มากนัก ทั้งสองช่องมีรายได้รวมกันไม่น่าจะเกิน 15 % ของงบโฆษณาทั้งหมด ในขณะที่ช่อง 11 ที่มีรูปแบบการบริหารแบบ”ราชการ”แม้สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ในเชิงภาพลักษณ์ที่ควรจะมีโอกาสมากพอสมควร แต่กลับได้ส่วนแบ่งน้อยมากๆไม่ถึง 5 %ของงบโฆษณารวม
สนามแข่งขันที่”ไม่”เท่าเทียมได้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย จนทำให้เกิดสภาพ”บิดเบี้ยว”เจ้าของสถานีมีอำนาจเหนือกว่าผู้ผลิตรายการที่ต้องคุกเข่า-จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้เช่าเวลามาผลิตรายการที่ทำให้ต้นทุนเวลาสูงว่าต้นทุนผลิตหลายเท่า
จนสังคมไทยแทบไม่ได้ประโยชน์ในการเรียนรู้และความบันเทิงน้ำดีจากโทรทัศน์ที่สามารถเข้าถึง 99 %ของครัวเรือนไทย จึงไม่แปลกที่มีเสียงบ่น,การกล่าวโทษละครน้ำเน่า,รายการบันเทิงที่ไม่ประเทืองปัญญา ฯลฯ แต่รายการเหล่านี้กลับได้รับความนิยมมากที่สุดในผังละครช่วงไพร์มไทม์ของโทรทัศน์ 2 ช่องหลัก
ดูเหมือนว่า”สนามแข่งขันที่ยังไม่เท่าเทียม”ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลับจะ”ได้เปรียบผู้เล่นใหม่”มากยิ่งขึ้น จนอาจจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลง”สาระสำคัญ”ของการแข่งขันในสนามที่ไม่เท่าเทียมยิ่งกว่าเดิม
ช่อง 5 กำลังจะได้รับใบอนุญาตช่องดิจิทัลทีวีสาธารณะจากกสทช.แบบไม่ต้องเสียเงินประมูลใดๆที่เป็นการ”เอาเปรียบ”ผู้เล่นรายใหม่ที่กำลังจะเข้าประมูลด้วยยอดเงินสูงมาก
และยังไม่มี”เงื่อนไข”ในการเปลี่ยนจาก”ทีวีเชิงธุรกิจ”ไปสู่”ทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคง”ว่าจะต้องปรับผังรายการให้มี”เนื้อหา”ที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะในสัดส่วน 70 %หรือไม่และเมื่อไหร่จะคืน”คลื่นความถี่”แบบอนาล็อก เพื่อให้กสทช.นำไปจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
ช่อง 11 กำลังจะได้รับใบอนุญาตช่องดิจิทัลทีวีสาธารณะจากกสทช.แบบไม่ต้องเสียเงินประมูลเช่นเดียวกัน
คำถามคือช่อง 11 จะทำหน้าที่ในการเป็น”ทีวีสาธารณะ”ได้อย่างไร ในขณะที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจ”สั่งการ”ให้ผังรายการเน้นหนักไปในทางโฆษณาชวนเชื่อผลงานรัฐบาลและยังใช้เป็นกระบอกเสียงโจมตี”คนคิดต่าง”จากรัฐบาล และคำถามเดิมกรมประชาสัมพันธ์จะต้องคืนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในมือมากมายทั้งคลื่นโทรทัศน์แบบอนาล็อกและคลื่นวิทยุให้กับกสทช.
ช่อง 5 กับช่อง 11 ยังไม่เคยให้”คำตอบ”ชัดๆว่าจะส่งคืนคลื่นความถี่แบบอนาล็อกให้กสทช.ได้ภายในกี่ปี แต่กลับเร่งทวงใบอนุญาตดิจิทัลทีวีสาธารณะจากกสทช.
นี่คือความได้เปรียบหรือเป็นการ”เอาเปรียบ”บนสนามแข่งขันที่ยังไม่เท่าเทียมในกระบวนการสู่ดิจิทัลทีวีที่กสทช.ควรจะมีความชัดเจนเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับ”ผู้เล่นรายใหม่”ที่กำลังคำนวณความเป็นไปได้ของการประมูล”ดิจิทัลทีวี” 24 ช่อง
ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสยังน่าชมเชยอยู่บ้างที่ยินยอมกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่แบบอนาล็อกภายใน 3 ปีให้กับกสทช.เพื่อแลกกับใบอนุญาตดิจิทัลทีวีในระบบ Standard Definition 1 ช่องและระบบ High Definition อีก 1 ช่อง
คำถามที่อยากจะถามไปถึงกสทช.เพื่อมุ่งไปสู่”สนามแข่งขันที่เท่าเทียม”คือควรจะหาหนทางทำให้ช่อง 3 กับ ช่อง 7 ยอมรับโดย”สมัครใจ”คืนคลื่นความถี่เดิมก่อนกำหนด เมื่อโครงข่ายดิจิทัลทีวีขยายครบ 100 %ในอีกประมาณ 4-5 ปีข้างหน้าเพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลทีวีให้เร็วขึ้น แม้ว่าช่อง 3 กับช่อง 7 ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายกสทช.ให้คงอายุสัมปทานโทรทัศน์แบบอนาล็อกไปจนกว่าจะครบเวลาสิ้นสุดอีกประมาณ 8-9 ปีที่ถือเป็น”การได้เปรียบ”โดยกฎหมาย
บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน)กับกองทัพบกในฐานะคู่สัมปทานคงจะไม่”ยินยอม”อย่างแน่นอน เพราะอสมท.จะสูญเสียรายได้ค่าสัมปทานจากช่อง 3 ปีละประมาณ 250 ล้านบาท ส่วนกองทัพบกจะสูญเสียรายได้ค่าสัมปทานช่อง 7 ปีละประมาณ 150 ล้านบาท
แต่ช่อง 3 กับช่อง 7 อาจจะ”สมัครใจ”คืนคลื่นความถี่อนาล็อกก่อนกำหนดได้ ถ้าหากวงเงินประมูลดิจิทัลทีวีที่ทั้งสองช่องตั้งเป้าไว้ 3 ช่องใหม่อาจจะได้ราคาที่ถูกลงกว่าเดิมหรือถ้าหากแพงกว่าเดิมจากการแข่งขันประมูลกับผู้เล่นรายใหม่ก็คงไม่อยากจะแบก”ต้นทุน” 2 ก้อนไปจนหมดสัญญาสัมปทาน ถ้าหากโครงข่ายดิจิทัลทีวีและการแจกจ่าย Set Top Box สามารถเข้าไปในทุกบ้านกว่า 22 ล้านครัวเรือนและการรับชมดิจิทัลทีวีแพร่หลายได้รับความนิยมกว่าระบบอนาล็อกที่มีปัญหาการรับชมไม่ชัดที่แก้ไม่ได้
การบ้านสำคัญของกสทช.คืออย่าปล่อยให้สนามแข่งขันที่”ยัง”ไม่เท่าเทียมดำรงอยู่มากมายเช่นเดิม จนกลายเป็นปัญหาสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลที่มีผู้เล่นหลากหลายขึ้นและลดสภาพกึ่งผูกขาดในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย มิเช่นนั้นภารกิจนี้ถือว่าล้มเหลวและประเทศของเราไม่ได้ประโยชน์ใดๆจากไปสู่ยุคดิจิทัลทีวี
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com