บันทึกข้อตกลงความร่วมมืิอ เรื่องการรับความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการ
สภาวิชาชีพสื่อจับมือสภาทนายความฯ ลงนามความร่วมมือ ช่วยเหลือนักข่าวที่ถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ส่งเสริมการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นจริยธรรม
ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนราชดำเนิน วันนี้ (27 ก.พ.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาทนายความฯ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องการรับความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการขึ้น โดยมีนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความฯ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนางสาวชไมพร คงเพชร เหรัญญิก ปฏิบัติหน้าที่แทน นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในการลงนามความร่วมมือ
นายจักร์กฤษ กล่าวถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เนื่องจากบางครั้งการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกการใช้กฎหมายมาหยุดการนำเสนอข่าวสู่ประชาชน สื่อมวลชนเหล่านั้นบางส่วนมีโอกาสต่อสู้คดีหรือป้องกันตัวเองได้น้อย บางครั้งต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาล ถูกฟ้องร้องเพื่อให้ยุติการนำเสนอข่าว หรือฟ้องคดีเพื่อข่มขู่ผู้สื่อข่าว หรือบุคคลในกองบรรณาธิการข่าว ทำให้เกิดความหวาดกลัว และที่สำคัญมีหลายกรณีที่ผู้สื่อข่าวต้องต่อสู้ตามกระบวนการทางศาลอย่างโดดเดี่ยว ดังนั้นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะที่เป็นสภาวิชาชีพสื่อ จึงเห็นควรที่จะหาแนวทางปกป้องคนในวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจริยธรรมและดำรงความเป็นกลาง สร้างประโยชน์ที่ดีต่อสังคม โดยสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยินดีร่วมมือเผยแพร่บทบาทของทนายความของสภาทนายความฯ รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่นเพื่อให้สังคมนี้เป็นสังคมที่โปร่งใส ถูกต้อง
“การช่วยเหลือครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมเท่านั้น ขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะมีคณะอนุกรรมการจริยธรรมและสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งมีนายภัทระ คำพิทักษ์ เป็นประธาน ตรวจสอบความถูกต้อง ส่วนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ ก็จะมีกรรมการตรวจสอบด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรมด้วย” นายจักร์กฤษ กล่าว
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการและประธานอนุกรรมการจริยธรรมและสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมต้องการสื่อที่มีคุณภาพและมีความกล้าหาญในการทำหน้าที่อย่างสุจริต ต้องการการตรวจสอบที่มีคุณภาพ แต่สื่อต้องมาวิตกว่าการทำหน้าที่จะมีผลออกมาอย่างไรเพราะมีการไปตรวจสอบ การที่สภาทนายความฯ ให้ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นหลักประกันที่สำคัญของสังคมที่ทำให้สื่อมั่นใจในการทำหน้าที่เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของสังคมด้วยความกล้าหาญต่อไป สื่อที่ทำหน้าที่แล้วมีภาระทางคดีหรือถูกต้นสังกัดลอยแพเพราะปิดกิจการสามารถมั่นใจได้ว่าหากทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีจะไม่ถูกทอดทิ้ง และน่าจะเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่ผลักดันเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป
ด้านนายสัก กล่าวว่า สภาทนายความฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และอยู่ในกรอบของคุณธรรมและมรรยาทที่ดี เพื่อค้นหาความจริง พิสูจน์สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เพื่อเสนอข่าวอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นธรรม ตรงไปตรงมา ให้ประชาชนเข้าถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องชอบธรรม โดยสภาทนายความฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือทุกช่องทางตามกรอบวิชาชีพทนายความ ผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ แต่งตั้งขึ้น โดยการช่วยเหลือนั้นจะเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าตลอดทุกชั้นศาล ยกเว้นการเสียค่าธรรมเนียมศาล นอกจากนี้ยังรวมถึงการช่วยเหลือ สนับสนุนด้านการดำเนินคดีเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นโจทก์ฟ้องคดี รวมถึงพยานด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มอาวุธให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทางสภาทนายความฯ ยินดีสนับสนุนการให้ความรู้ทางกฎหมายที่จำเป็นในการประกอบวิชาชีพ โดยเรายินดีสนับสนุนและยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์สู่สังคมต่อไป
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
27 กุมภาพันธ์ 2556
Leave your response!