ชำแหละ 4 ประเด็นร่างพ.ร.บ.กสทช.สภาฯ-วุฒิสภา เล่นดนตรีคนละเพลง
โดย……ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 ก.ย.กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้งเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่าจะขอความร่วมมือให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประสานไปยังสภาฯเพื่อให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.(กสทช.) หลังจากที่วุฒิสภาได้มีการแก้ไขมาแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การให้มีกสทช.ขึ้นมาเพื่อมาเป็นหน่วยงานจัดสรรคลื่นความถี่ของชาติงกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการออกกฎหมายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
แต่ปรากฏว่าหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศมานานกว่า 3 ปีแต่รัฐบาลหลายชุดตั้งแต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนเป็นต้นมาจนมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ทั้งๆที่มาตรา 305 (1) กำหนดให้มีการตรากฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ดังนั้น การประชุมสภาฯวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก
โดยระเบียบวาระการประชุมสภาฯในวันที่ 22 ก.ย.ก็ได้มีการบรรจุเรื่องเอาไว้อยู่ในเรื่องที่ที่ประชุมเห็นขอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนลำดับที่ 11 หมายความว่า หากสภาฯมีความประสงค์จะพิจารณาเรื่องนี้ก่อนต้องใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมสภาฯเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะรัฐบาลคงมีเสียงพอจะผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างไม่อยากเย็นมากนัก
แต่ความยากอยู่ตรงที่ขั้นตอนการในการพิจารณามากกว่า
กล่าวคือ ถ้าที่ประชุมสภาฯมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายของวุฒิสภาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯข้อที่ 135 กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมกันของสองสภา (สภาฯและวุฒิสภา) และเสนอให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้สภาฯลงมติต่อไป
เท่ากับว่าขั้นตอนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากทั้งสองสภาเข้าไปตะลุมบอนกันในที่ประชุมกมธ.ร่วมกันว่าใครจะเสนอให้แก้ไขอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มีกำหนดเวลาว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อไหร โดยที่ผ่านมาหากเป็นการพิจารณากฎหมายที่มีความสำคัญมากจะใช้ไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อมีการพิจารณาเสร็จก็จะส่งให้แต่ละสภากลับไป
พิจารณากันเองว่าจะเห็นด้วยกับถ้อยคำที่กมธ.ร่วมกันแก้ไขหรือไม่ ถ้าทั้งสองสภาเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ต่อไป แต่หากมีสภาหนึ่งสภาใดไม่เห็นด้วยให้ยึดมติสภาผู้แทนฯเป็นหลักถ้าเห็นด้วยก็ประกาศใช้ได้แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ตกไป
สำหรับเนื้อหาที่วุฒิสภามีการปรับแก้ไขไปก่อนหน้านี้มีด้วยกันถึง 23 มาตรา ได้แก่ มาตรา 6, มาตรา 7,มาตรา 9,มาตรา10 ,มาตรา 11,มาตรา 12,มาตรา 13,มาตรา 14,มาตรา15,มาตรา 16,มาตรา17,มาตรา 18,มาตรา 19,มาตรา 20,มาตรา35,มาตรา 36,มาตรา38,มาตรา41,มาตรา 48,มาตรา49,มาตรา 52,มาตรา 84,มาตรา85
ทั้งหมดครอบคลุมใน 4 ประเด็นสำคัญดังนี้
1.องค์ประกอบกสทช. วุฒิสภากำหนดให้มีกสทช.จาก 11 คน เป็น 15 คน โดยเพิ่มผู้ที่มีผลงานหรือมีความรู้และมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ ด้านการศึกษา วัฒนธรรม หรือการศาสนาหรือการพัฒนาสังคม จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 คน เป็น 3 คน และผู้มีผลงานหรือมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านความมั่นคงของรัฐหรือการบริหารราชการอีก จำนวน 2 คน และให้สถาบันการศึกษาของรัฐ และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในด้านความมั่นคงและด้านการบริหารราชการเป็น หน่วยงานที่มีสิทธิเสนอรายชื่อกรรมการ กสทช.โดยให้สำนักงานกสทช.เป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินการสรรหากสทช.จากเดิมที่สภาฯกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยงานธุรการ
2.คุณสมบัติของกสทช. วุฒิสภาแก้ไขให้บุคคลที่จะมาทำหน้าที่กสทช.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 บริบูรณ์ เดิมสภาฯกำหนดมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน65ปีบริบูรณ์ นอกจากนี้วุฒิสภากำหนดให้บุคคลที่อยู่ระหว่างการห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็นกสทช. ทั้งนี้กสทช.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีเพียงวาระเดียว โดยวุฒิสภาแก้ไขการพ้นจากตำแหน่งนอกเหนือไปจากการพ้นไปตามวาระเอาไว้ว่าเมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตรงกันข้ามกับสภาฯที่กำหนดเอาไว้ที่อายุ 65 ปีบริบูรณ์
3.การจัดทำแผนแม่บท วุฒิสภาแก้ไขให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่นั้นกสทช.ต้องมีระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนแม่บทไม่ไม่น้อยกว่า 30 วันและกำหนดรายละเอียดเพื่อใช้งานด้านความมั่นคงของรัฐต้องเป็นไปอย่างเพียงพอและเหมาะสม ขณะที่ในส่วนของสภาฯไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดทำแผ่นแม่บทรวมไปถึงไม่ได้กำหนดเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ
4.การนำส่งรายได้ให้กสทช.ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ วุฒิสภาบัญญัติให้เมื่อเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับจัดสรรไปให้ผู้อื่นประกอบกิจการนำส่งรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับจากการให้อนุญาตที่รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐไม่ว่าจะได้ทั้งหมดหรือบางส่วนมาให้กสทช. โดยให้หักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกสทช.จะนำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป โดยในประเด็นนี้สภาฯกำหนดระยะเวลาไว้ที่ 1 ปี
ทั้ง 4 ประเด็นนี้ถือเป็นสาระสำคัญที่สภาฯและวุฒิสภามีความเห็นไม่ตรงกันไม่ต่างอะไรกับการเล่นดนตรีกันคนละเพลงทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาและใช้เวลาอีกนานพอสมควร โดยความล่าช้าถ้ายิ่งนานออกไปมากเท่าไหรผลลัพธ์สุดท้ายก็ตกอยู่กับประเทศไทยว่าเมื่อไหรจะได้กสทช.เข้ามาเพื่อจัดสรรทรัพยากรของชาติให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ที่มา www.posttoday.com 22 กันยายน 2553 เวลา 06:24 น.