ประกาศใช้ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเดินหน้าต่อเร่งสรรหาคณะกรรมการภายใน 30 วัน
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับผู้แทนฝ่ายข่าว จากสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุหลักที่มีฝ่ายข่าว ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สำนักข่าวไทย อสมท (โมเดิร์นไนน์ ทีวี และ วิทยุ อสมท) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท 11) สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย(TPBS) สถานีข่าวเนชั่นแชนแนล สถานีโทรทัศน์ TNN สำนักข่าว ไอเอ็นเอ็น สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักข่าวที – นิวส์ ได้ประกาศเจตนารมณ์พร้อมทั้งลงนามท้ายบันทึกความเข้าใจให้จัดตั้ง “สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” และจัดทำธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนั้น ขณะนี้ การจัดทำร่างธรรมนูญดังกล่าวเสร็จสิ้น และได้รับความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายจากทุกองค์กรที่มาร่วมลงนามแล้ว จึงได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวต่อไปว่า หลังจากประกาศใช้ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งและสรรหาคณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าวฯ จำนวน 19 คน โดยแบ่งเป็น กรรมการจากสายวิชาชีพ 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ตามธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ อีก 7 คน จากนั้นจะเป็นการเลือกประธาน 1 คน รองประธาน 2 คน และ เลขาธิการ 1 คน เพื่อร่างข้อบังคับจริยธรรม การรับเรื่องร้องเรียน และการเข้าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 30 วัน
“จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเพื่อยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่ดูแลควบคุมกันเองและจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 46 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39”
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประกอบด้วย หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในสังกัดขององค์กรสมาชิก เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพข่าวฯ โดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ที่องค์กรต้นสังกัดเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพข่าวฯ ย่อมถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมได้โดยตรง ส่วนในด้านคุณสมบัติขององค์กรสมาชิกนั้น ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ กำหนดให้สถานี หรือรายการที่เกี่ยวข้องกับข่าวสามารถเป็นสมาชิกได้ และให้การกำกับดูแลครอบคลุมไปถึงสื่ออื่นๆในสังกัดสมาชิกด้วย อาทิ การออกอากาศผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ การให้บริการส่งข่าวทาง SMS ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกจะต้องมีสถานีหรือเวลาในการออกอากาศในช่องทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือ เคเบิลทีวี เป็นหลักก่อน
ส่วนหมวด 2 สมาชิก ของ ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.สมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ ผู้บริหาร เจ้าของ หรือบรรณาธิการข่าวผู้มีอำนาจเต็มของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์หรือรายการข่าวและรายการที่เกี่ยวเนื่องกับข่าว หรือสมาคมวิชาชีพด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
ที่ได้ลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพฯ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 และยังคงดำเนินกิจการข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้นอยู่ต่อเนื่องตลอดมา 2.สมาชิกสามัญ ได้แก่ องค์กรสมาชิกที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สำหรับหมวด 3 คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการ ไม่เกิน 19 คน โดยมาจากสายวิชาชีพ 12 คนและผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ อีก 7 คน แต่ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ส่วนการลงมติของคณะกรรมการสภาฯ นั้นในเรื่องทั่วๆ ไป สามารถใช้เสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุมในครั้งนั้นๆ ได้ แต่ถ้าเป็นการลงมติเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกหรือผู้ประวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในสังกัด ประพฤติผิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ หรืออย่างน้อย 10 คนขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า การที่สภาวิชาชีพฯ จะตัดสินว่าองค์กรสมาชิก หรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าวคนใด ละเมิดจริยธรรมนั้น จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากอย่างแท้จริง
หมวด 4 การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ กำหนดให้ ผู้ได้รับความเสียหายจากข้อความ เสียง หรือภาพที่ปรากฏในข่าวหรือรายการข่าวที่ผลิตโดยสมาชิกหรือจากพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ที่สังกัดสมาชิก ซึ่งผู้เสียหายเป็นว่าขัดแย้งต่อข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อสถานีหรือผู้ผลิตรายการนั้นโดยตรงก่อน เพื่อให้สถานีหรือรายการนั้นดำเนินการบรรเทาความเสียหายตามควรแก่กรณี แต่หากสถานีหรือต้นสังกัดเพิกเฉยที่จะดำเนินการใดๆ หรือผู้เสียหายเห็นว่าการบรรเทาความเสียหายของสถานีหรือผู้ผลิตรายการ ไม่เป็นที่พอใจจนเห็นได้ชัด ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสภาฯ ได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบความเสียหายนั้น
หมวด 5 ความรับผิดทางจริยธรรม สาระใจความสำคัญของความรับผิดทางจริยธรรมตามกรอบธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าวฯ คือ เมื่อคณะกรรมการมีมติว่า องค์กรสมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าว ละเมิดจริยธรรมในเรื่องใด ในมตินั้นๆ จะต้องระบุให้มีการรับผิดทางจริยธรรมด้วย ซึ่งกำหนดไว้ 2 ระดับคือ 1.การตักเตือนหรือตำหนิ 2.ให้สถานีหรือผู้ผลิตรายการที่ถูกร้องเรียน เผยแพร่ข้อความ เสียงหรือภาพที่ผู้ร้องเรียนหรือได้รับความเสียหายต้องการในระยะเวลาและช่วงเวลาที่เหมาะสมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัย โดยสภาวิชาชีพข่าวฯ และผู้ร้องเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สำหรับความเป็นมาในการดำเนินการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้เตรียมการเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางปี 2548