Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

วุฒิสภาผ่านร่างพ.ร.บ.กสทช.

Author by 16/11/10No Comments »

สว.ลงมติ  82 เสียงเห็นชอบร่างกม.ตั้งกสทช. หลังผ่านสภาผู้แทนฯ ห้าวัน ด้านนักวิชาการชี้กองทัพควรส่งรายได้สัมปทานวิทยุโทรทัศน์เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม

วานนี้ (15 พ.ย.2553) ที่ประชุมวุฒิสภามีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันฯ (กมธ.ร่วม)  จากสองสภาพิจารณาเสร็จแล้ว และสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เมื่อ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา

ร่างกฎหมายตั้ง กสทช.ฉบับนี้เป็นการประนีประนอมระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …. เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากวุฒิสภาแก้ไขและสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ

สาระสำคัญของกฎหมายที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ได้แก่ 1.จำนวนกรรมการของ กสทช. ให้ลดจาก 15 คน เป็น 11 คนตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร 2.โครงสร้างของ กสทช.ให้ตัดตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง การบริหารราชการและศาสนาออก 3.คุณสมบัติเรื่องอายุของกรรมการที่วุฒิสภาแก้ไขเป็น 35-70 ปี 4.หน่วยธุรการในการสรรหาและคัดเลือกกันเองให้ได้มาซึ่งกรรมการกำหนดให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่ 5.ระยะเวลาการส่งคืนผลกำไรจากค่าสัมปทานของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดให้จัดส่งให้ กสทช.หลังกฎหมายประกาศใช้สามปี

และ 6.การจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบเพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์จะยังไม่ใช้บังคับจนกว่ากสทช.จะประกาศใช้ระบบส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยกฎหมายกำหนดให้ กสทช.จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้เสร็จภายในหนึ่งปีโดยต้องระบุระยะเวลาการประกาศใช้ระบบดิจิตอล แต่ในระหว่างที่ประกาศใช้แผนแม่บทฯ แต่ยังไม่ประกาศใช้ระบบส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลให้ กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้ในกิจการโทรทัศน์เป็นการชั่วคราวเฉพาะในพื้นที่ที่มีคลื่นความถี่เพียงพอที่จะดำเนินการจัดสรรได้
ในการนี้ประชุมวุฒิสภาได้เปิดให้มีการอภิปรายราวหนึ่งชั่วโมงก่อนจะมีมติเห็นชอบตามร่างของ กมธ.ร่วมฯ ด้วยคะแนน 82 ต่อ 4 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 คะแนน ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้นักวิชาการสื่อสารมวลชนบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณากฎหมายในครั้งนี้พูดเรื่องการส่งคืนรายได้ของรัฐวิสาหกิจของรัฐที่ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมให้กับ กสทช.ในสามปี แต่มิได้พูดถึงการจัดส่งรายได้ที่กองทัพได้รับจากการสัมปทานวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ให้แก่เอกชนที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าควรต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกันจึงจะสร้างความเป็นธรรมในระบบใหม่ให้กับทุกภาคส่วน.

……………………………..

อ้างอิง

มาตรา 85 ในวาระเริ่มแรกมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 49 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบมาใช้บังคับ ทั้งนี้ จนกว่า กสทช.จะประกาศให้ใช้ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลแล้ว

ให้ กสทช. จัดให้มีแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ตามมาตรา 48 ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่เมื่อมีการแต่งตั้ง กสทช. แล้ว โดยแผนดังกล่าวต้องกำหนดให้มีการกำหนดเวลาในการเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลและกำหนดเวลาเกี่ยวกับการจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ด้วย

หลังจากประกาศใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แล้ว  ในช่วงเวลาที่ยังมิได้ประกาศให้ใช้ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้ในกิจการโทรทัศน์เป็นการชั่วคราวเฉพาะในพื้นที่ที่มีคลื่นความถี่เพียงพอที่จะดำเนินการจัดสรรได้