Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กับ ปัญหาสื่อชนเผ่า (partisan press)

Author by 26/05/11No Comments »

โดยสมชัย สุวรรณบรรณ

พระราชกฤษฎีกายุบสภาที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศทางโทรทัศน์ค่ำวันที่ ๙ พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเปิดม่านการต่อสู้ทางการเมืองบนเวทีหาเสียงครั้งประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นการเปิดประเด็นคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อประเภท partisan press ซึ่งผู้เขียนขอเรียกสื่อฯประเภทนี้ว่า สื่อชนเผ่า

การเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นครั้งแรกที่สื่อประเภทนี้จะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ การหาเสียงจะมีการแข่งขันที่ดุเดือดเพราะวางเดิมพันไว้สูง ผลที่จะติดตามมาก็คือ อนาคตของประเทศไทยก็อาจจะแตกแยกเป็นเผ่าพันธุ์ตามแต่ทิศทางของผู้ที่อยู่เบื้องหลังสื่อฯเหล่านี้

Partisan press เป็นสื่อฯเฉพาะกลุ่ม มีวาระทางการเมืองที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบฟาสซิสม์ อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคนาซี และ มุสโสลินี สิ่งที่จะฟ้องให้เห็นว่าเป็น partisan press คือจะมีการใช้พลังของสื่อในการปั้นผู้นำของกลุ่มตนให้มีลักษณะ cult status

เราได้เห็นการก่อเกิดและขยายตัวของสื่อประเภทนี้ในสังคมไทยในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ ๑๙ กันยายน ที่แตกบานขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ พลังของสื่อประเภทนี้คือสามารถชักชวนให้กลุ่มคนใส่เสื้อสีเดียวกัน ให้มีความนึกคิดหรือออกอาการไปในทิศทางเดียวกัน ตามที่แกนนำกรอกผ่านเครื่องกระจายเสียง และบางกลุ่มก็เกิดอาการคลั่งไคล้ผู้นำโดยไม่ตั้งคำถาม บางครั้งถึงขนาดชักชวนกันไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือทำผิดกฎหมาย โดยสื่อจะใช้โวหารหลอกให้หลงเชื่อในความชอบธรรมแบบกลวงๆ ที่ตั้งบนฐานความคิด หรือข้อมูลด้านเดียว   

ผู้ที่บงการสื่อเหล่านี้ มักจะใช้พลังของสื่อที่อยู่ในการควบคุมของตนเป็นเครื่อง มือชี้นำผู้คนให้หลงไปในโวหารฉาบยาพิษ บางครั้งถึงขนาดชักนำผู้คนไปข่มเหงหรือเข่นฆ่าคนอื่น อย่างบ้าคลั่งขาดสติ อย่างเช่นวิทยุยานเกราะในประเทศไทยสมัยเหตุการณ์หกตุลา หรือเคยมีตัวอย่างในต่างประเทศคือวิทยุมีลี คอลีน ในประเทศระวันดา แอฟริกา ซึ่งระดมม็อบไปฆ่าล้างเผ่าพันธ์กันในปี ๒๕๓๗ ส่วนในประเทศไทยก็มีวิทยุชุมชนบางแห่งระดมสาวกออกไปทำร้ายฝ่ายตรงข้าม อย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดในเชียงใหม่และอุดร คล้ายๆ วิทยุในประเทศระวันด้า

บัดนี้ประเทศไทยมีสื่อแบบนี้ในรูปของทีวีดาวเทียมบ้าง ผ่านทางเครือข่ายออนไลน์บ้าง บ้างก็มาในรูปของวิทยุชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยที่วิทยุเหล่านี้ไม่ใช่วิทยุของชุมชนในความหมายที่แท้จริง แต่กลายเป็นแขนขาของกลุ่มการเมืองที่มีเป้าหมายชัดเจนในการแย่งชิงมวลชน บ้างก็ถึงขั้นโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชังสถาบันสำคัญของชาติ บ้างก็มาในรูปของวิทยุที่มีการจัดตั้งโดยหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ 

สื่อฯ เหล่านี้มิได้ทำงานตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในความหมายสากล ที่มีข้อกำหนดให้ความเสมอภาคต่อความหลากหลายทางความคิดเห็น ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ให้หาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่กลับมุ่งตอกย้ำกล่าวหาเพื่อสร้างความเกลียดชังให้คนในชาติเดียวกัน ให้เกิดการแตกแยกเหมือนคนต่างชนเผ่า ซึ่งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่อนุญาตให้มีสื่อฯประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ทว่าสื่อประเภทนี้มักจะมีดาษดื่นในประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ในวงการสื่อฯ ของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมั่นคงแล้ว เป็นที่ยอมรับกันว่าคลื่นสัญญาน หรือวงจรสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบัดนี้มีเพิ่มเติมเป็นบรอดแบนด์บ้าง สามจีบ้าง  ถือเป็นทรัพยากรของชาติ ของประชาชนโดยรวม ดังนั้นการดำเนินกิจการใดๆ ที่ใช้ทรัพยากรของชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะสื่อฯ ย่อมต้องดำเนินการโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผล ประโยชน์ของส่วนรวม หรือผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ประเทศไทยก็มีบทบัญญัติเช่นนี้ในรัฐธรรมนูญมาแล้วสองฉบับ

แต่ผู้ที่ดำเนินกิจการสื่อแบบชนเผ่าเหล่านี้ ก็มักจะอ้างเสรีภาพสื่ออย่างผิดๆ เพราะแท้จริงแล้วเสรีภาพในการแสดงออก  มิได้หมายถึงการแสดงความคิดความเชื่อของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว  มิได้หมายถึงการสกัดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของคนอื่นในเวทีของตน  มิได้หมายถึงการระรานสิทธิของผู้ที่เห็นแตกต่างจากตน  หรือการผูกขาดสิ่งที่นึกคิดว่าถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือการชักชวนรวมตัวพวกเดียวกันไปทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น partisan press  จึงเป็นสื่อฯที่มีแนวโน้มที่จะทำลายประชาธิปไตยมาก กว่าข้ออ้างที่ว่าเพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางความคิดเห็น หรือประชาธิปไตย

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปิดตัวการแข่งขันหาเสียงเลือกตั้ง ก็ถึงเวลาที่สื่อเหล่านี้ต้องระดมสรรพกำลังและกลยุทธ์ทุกรูปแบบซึ่งหมายถึงการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ทั้งแบบตรงๆ และแบบซับซ้อนเพื่อให้ฝ่ายตนชนะเลือกตั้งให้มากที่สุด และกลยุทธ์ดังกล่าวรวมไปถึงการทำงานสื่อสารมวลชนที่ไม่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ และจริยธรรมวิชาชีพสื่อฯ ละเมิดหลักการเพื่อให้ฝ่ายตนได้เปรียบมากที่สุด กลยุทธ์ดังกล่าวอาจจะหมายถึงการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อข้อมูลด้านเดียว 

ในเฉพาะหน้านี้ เพราะใกล้เลือกตั้ง ก็คงเป็นภาระหน้าที่อันเหน็ดเหนื่อยของ กกต ที่จะต้องดำเนินการตรวจตราให้ทั่วถึงว่ามีสื่อใดบ้างที่มิได้ทำงานตามมาตรฐานจรรยาบรรณสื่อฯ ที่แท้จริง   หรือสื่อใดที่แอบลักลอบทำงานโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น  คงเป็นหน้าที่ของ กสทช. องค์กรอิสระใหม่ล่าสุดของสังคมไทย (ที่กำลังมีอาการน่าเป็นห่วง) ต้องออกมาตอบโจทย์ว่า

ทำไมประเทศที่อ้างตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย จึงยอมให้มีสื่อฯ ที่เกิดมาเพื่อทำลายประชาธิปไตย 

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2011 เวลา 18:36 น.

ที่มา:
http://www.thaireform.in.th/component/flexicontent/item/5861–partisan-press-.html

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา