‘ทีวีดิจิทัล’ สะพัดแสนล้าน…กสทช.แจกไลเซ่น3ประเภทปีนี้
วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 10:54
กสทช.ประเมินธุรกิจบรอดแคสต์ ยุคก้าวสู่ “ทีวีดิจิทัล” คาด 3 ปี เม็ดเงินลงทุนสะพัด 1 แสนล้านบาท เดินหน้าแจกใบอนุญาต 3 ประเภทปีนี้
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บอร์ดกระจายเสียง) เปิดเผยว่า ขณะนี้บอร์ดกระจายเสียง ได้ผ่านร่างประกาศการกำหนดประเภทการให้ใบอนุญาต (ไลเซ่น) การประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน) เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยใบอนุญาต 4 ประเภท คือ 1.ใบอนุญาตโครงสร้างพื้นฐาน 2.ใบอนุญาตโครงข่าย 3.ใบอนุญาตช่องรายการ และ 4.ใบอนุญาตบริการอื่นๆ คาดว่าภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ จะนำร่างประกาศประเภทใบอนุญาตฯ ดังกล่าว เปิดเวทีประชาพิจารณ์เพิ่มรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ประกอบการในธุรกิจ
ทั้งนี้ ตามโรดแมพการเปลี่ยนระบบดิจิทัลของ กสทช.ปี 2555-2559 คาดว่าจะเริ่มให้ใบอนุญาตในปีนี้ได้ 3 ประเภท คือ 1.ใบอนุญาตโครงสร้างพื้นฐาน คือการสร้างเสาส่งสัญญาณ คาดว่าจะเปิดให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ 1-3 ราย 2.ใบอนุญาตโครงข่าย หรือผู้รวบรวมช่องรายการ เพื่อส่งสัญญาณออกอากาศ และ 3.ใบอนุญาตช่องรายการ โดยจะเริ่มให้ใบอนุญาตช่องรายการประเภทสื่อสาธารณะเป็นลำดับแรกในปีนี้ หลังจากนี้ในปี 2556 จะเริ่มให้ใบอนุญาตช่องรายการ ทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลในใบอนุญาตประเภทนี้
อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วง 3 ปีจากนี้ ตั้งแต่เริ่มโรดแมพระบบดิจิทัล จะทำให้เกิดการลงทุนในสื่อทีวีดิจิทัลประมาณ 1 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วยการลงทุนโครงข่าย 10,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรมกล่องรับสัญญาณ อุปกรณ์ติดตั้งกับเครื่องโทรทัศน์ระบบเดิม เพื่อรับชมช่องรายการทีวีดิจิทัลประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนที่เหลืออีก 70,000 ล้านบาท มาจากการลงทุนด้านโครงข่าย, ช่องรายการของผู้ผลิตรายการที่จะต้องลงทุนอุปกรณ์การผลิตในระบบดิจิทัล รวมทั้งใบอนุญาตทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจที่คาดว่าจะมีประมาณ 50 ช่องรายการ
ทั้งนี้ รูปแบบการขอใบอนุญาตช่องรายการ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ช่องรายการ “ที่ใช้คลื่นความถี่” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มทีวีดิจิทัล มี 3 ประเภท คือ ทีวีสาธารณะ และชุมชน เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องประมูล และประเภทธุรกิจ ที่จะต้องประมูลใบอนุญาต
จี้แจกไลเซ่นทีวีดาวเทียม-โมบายทีวี
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเอ๊ซ (ACE) ร่วมกันจัดสัมมนาในโครงการ Digital Agenda Thailand ในหัวข้อ “มุมมองใหม่…ทีวีดาวเทียมและโมบายทีวี”
นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดี คณะนิติศาสตร์ และนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน กสทช.ได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนระบบดิจิทัลภายใต้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งพบว่ามีหลายประเด็นในแผนแม่บทฯ ที่จะทำให้ “ทีวีดิจิทัล” ในประเทศไทยไม่สามารถเกิดได้อย่างสมบูรณ์ จากการกำหนดกรอบเวลาคืนคลื่นความถี่ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ตามสูตรวิทยุ 5 ปี, โทรทัศน์ 10 ปี และโทรคมนาคม 15 ปี โดย “ไม่เรียกคืนพร้อมกัน” ทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ “รายใหม่” ที่จะเข้ามาประมูลไม่สามารถเกิดได้
“ต้องยอมรับว่าฟรีทีวีของไทย ทรงอิทธิพลและเข้าถึงทุกครัวเรือน หากไม่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่แบบ Reframing หรือกำหนดกรอบการจัดสรรใหม่ทั้งระบบ เชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ระบบทีวีอนาล็อก ยังเป็นของผู้รับสัมปทานเดิม และระบบทีวีดิจิทัลสำหรับผู้เข้าประมูลรายใหม่ ซึ่งมาตรฐานการแข่งขันไม่เท่าเทียมกัน เพราะทีวีอนาล็อกเป็นระบบที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ขณะที่ทีวีดิจิทัลเพิ่งเริ่มต้น ทำให้การแข่งขันอย่างเสรีไม่เกิดขึ้น” ดร.สุธรรม กล่าว
แนะกสทช.หนุนรายเล็กประมูล
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Shifting Platform :Satellite TV “มุมมองใหม่ ทีวีดาวเทียม” ว่าเครือเนชั่น ถือเป็นคอนเทนท์ โปรวายเดอร์รายแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกสื่อทีวีดาวเทียม เริ่มด้วยสถานีข่าวเนชั่น แชนแนล นอกจากนี้ยังมีช่องแมงโก้ และช่องระวังภัย ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ เครือเนชั่น จะเปิดตัวช่องทีวีดาวเทียมอีก 2 ช่องใหม่ คือช่องกรุงเทพธุรกิจทีวี สถานีข่าว และช่องคิดส์ โซน รายการประเภทเอ็ดดูเทนเมนท์
ปัจจุบันคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ไทยมีความพร้อมด้านการผลิตและการแข่งขันทั้งในสื่อทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัลแต่ต้องการความชัดเจนเรื่องใบอนุญาต และกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจ จาก กสทช. ภายใต้เงื่อนไขเสรีและเป็นธรรม เพราะปัจจุบันเงื่อนไขการกำหนดเวลาโฆษณาในสื่อแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน คือ ฟรีทีวี โฆษณาได้ชั่วโมงละ 12 นาที, ส่วนเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ชั่วโมงละ 6 นาที ทั้งที่ ทีวีดาวเทียม จัดอยู่ในประเภทเดียวกับฟรีทีวี ที่มีรายได้จากโฆษณาเป็นหลัก จึงควรมีระยะเวลาโฆษณาเท่ากัน
นอกจากนี้ต้องการให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิทัลโดย “ไม่มองที่ตัวเงิน” เป็นหลัก โดยเฉพาะเงื่อนไขการประมูลทีวีดิจิทัลประเภทช่องรายการเด็ก สารคดี ช่องข่าว ซึ่งเป็นช่องสารประโยชน์ จะต้องมีเงื่อนไขแตกต่างจากช่องธุรกิจ รวมทั้ง กสทช. ควรมีการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ที่มีความสามารถในการผลิตคอนเทนท์คุณภาพ ให้มีโอกาสได้เป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์