เปิดเสรี ‘ทีวีดิจิทัล’ สร้างโอกาส ‘รายใหม่’
วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 10:31
การประกาศใช้ แผนแม่บท 3 ฉบับของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
อันประกอบด้วยแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555, แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555-2559 และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555-2559 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2555
สาระในยุทธศาสตร์การคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ ซึ่งได้กำหนดให้กิจการกระจายเสียงให้มีระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี, กิจการโทรทัศน์ ไม่เกิน 10 ปี และกิจการโทรคมนาคม ไม่เกิน 15 ปี หรือ “สูตรคืนคลื่น 5-10-15 ปี” เนื้อหาดังกล่าวได้กลายเป็นสาระสำคัญให้สังคม เฝ้าติดตามแนวทางการปฏิรูปสื่อที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐมาอย่างยาวนาน ว่าภายใต้การบริหารของ กสทช. จะมีทิศทางการเปิดเสรีบริหารคลื่นความถี่อย่างไร
รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่าแผนแม่บทฯ ที่กำหนดให้คืนคลื่น 5-10-15 ปี ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปสื่อในยุค กสทช. ไม่ได้สร้างการแข่งขันอย่างเสรีให้ผู้ประกอบการทุกรายในตลาด แต่เป็นการ “ปิดตลาดและทำลายการแข่งขัน” เพราะผู้ถือครองคลื่นความถี่ในปัจจุบัน ยังคงประกอบกิจการอย่างได้เปรียบ และปิดกั้นโอกาสการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่
หากพิจารณาในบทเฉพาะกาลของกฎหมายสื่อ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้ระบุไว้แล้วว่าให้นำคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ เมื่อเกิดองค์กรกำกับดูแล (กสทช.)
“กฎหมายไม่เคยมีการการันตีว่าคู่สัญญาสัมปทาน จะมีระยะเวลาใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการเป็นระยะเวลาเท่าไร เพียงแต่บอกถึงสัญญาที่เป็น สิทธิในการประกอบกิจการเท่านั้น แต่แผนแม่บทเรียกคืนคลื่นสูตร 5-10-15 ปี เป็นการันตีระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่ให้กับคู่สัญญาเดิม”
จี้จัดสรรคลื่นทั้งระบบ
รศ.สุธรรม กล่าวว่า สิ่งที่ กสทช. ควรทำ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Refarming) ทั้งระบบ ในกลุ่มธุรกิจกระจายเสียง หรือ Broadcasting จะต้องจัดสรรใหม่ด้วยระบบดิจิทัล ที่ทำให้มีคลื่นความถี่จำนวนมากอย่างเร็วที่สุด รวมทั้งนำคลื่นความถี่โทรทัศน์ระบบอนาล็อกเดิม มาจัดทำเป็นระบบดิจิทัลไปพร้อมกันทั้ง “หน้ากระดาน” ไม่ใช่นำคลื่น ความถี่บ้างส่วนมาจัดทำ หลังจากนั้นจึงนำคลื่นความถี่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) คืนให้กับผู้ที่ถือครอง “สิทธิประกอบกิจการ” ตามสัมปทานตามเวลาที่ยังเหลืออยู่ หากสัญญานั้นยังได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ
แม้ กสทช.จะเริ่มพยายามเดินหน้าเปลี่ยนระบบดิจิทัล ด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่บ้างส่วนในเป็น “ทีวีดิจิทัล” ในปีนี้ แต่การลงทุนที่จะต้องมีการประมูลใบอนุญาตโครงข่าย, เน็ตเวิร์ค, ช่องรายการ และอื่นๆ จะต้องใช้ระยะเวลาลงทุนใหม่ สร้างฐานตลาดใหม่ และที่สำคัญ “ต้องรอผู้ชม” ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์แปลงสัญญาณ (set top box) เพื่อจะรับชมทีวีดิจิทัลได้นั้น ถือเป็นการเสียเปรียบคู่แข่งขัน ทีวีอนาล็อกเดิม ที่มีฐานผู้ชมทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีรายได้จากราคาโฆษณาในอัตราสูงกว่า
“จากแผนแม่บทฯ และการเปลี่ยนระบบดิจิทัล โดยไม่เรียกคืนคลื่นทีวีอนาล็อกเดิมมาจัดสรรใหม่พร้อมกัน ทำให้ ฟรีทีวีรายเดิม ยังแข็งแกร่ง และทีวีดิจิทัลรายใหม่จะไม่เกิด”
ในหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนระบบทีวีดิจิทัล องค์กรกำกับจะบังคับให้รายเดิม เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเรื่อง set top box แทนผู้เล่นรายใหม่ เพราะถือเป็นผู้ได้เปรียบในตลาด
หากยังไม่มีการจัดสรรคลื่นทีวีอนาล็อก เป็น ทีวีดิจิทัล ไปพร้อมกัน เชื่อว่า “ทีวีดิจิทัล” ที่ กสทช. กำลังจัดทำแผนและให้ใบอนุญาตประเภทต่างๆ อยู่ในขณะนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะทีวีอนาล็อกเดิมยัง “ทรงอิทธิพล” ในการเข้าถึงครัวเรือนไทยได้ทั่วประเทศ ขณะที่ ทีวีดิจิทัล ต้องใช้ระยะเวลาในการเริ่มต้นติดตั้ง Set Top box หรือซื้อเครื่องรับทีวีดิจิทัลใหม่ ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มเติมของผู้บริโภค และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร กว่าที่ครัวเรือนไทยจะมี Set Top box หรือเครื่องรับทีวีดิจิทัล ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ
เปิดเสรีไลเซ่น ‘ทีวีดิจิทัล’
รศ.สุธรรม กล่าวอีกว่า แนวคิดการให้ใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิทัล เพียง 1-2 ราย ถือเป็น การ “ผูกขาด” ตลาด เพราะหากเปรียบทีวีอนาล็อกเดิม เป็นโลกแห่งการผูกขาด จะพบว่ามีถึง 6 โครงข่าย คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส แต่ใน “โลกเสรี” ภายใต้การกำกับของ กสทช. ที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัล กลับมีการกำหนดให้ทีวีดิจิทัลมี “โครงข่ายเดียว”
“ตลาดที่เปิดเสรี จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการแข่งขันเอง หากผู้ประกอบการเห็นโอกาสทางธุรกิจและมีผู้บริโภค ก็พร้อมจะเข้ามาลงทุน เราต้องเชื่อในระบบตลาดเสรี เพราะการลงทุนทีวีดิจิทัลที่ระดับหมื่นล้านถึงแสนล้านบาท ด้วยมูลค่าดังกล่าว ผู้ประกอบการจะเป็นผู้เลือกเองว่าพร้อมจะลงทุนหรือไม่ กสทช.ไม่มีทางรู้ว่า ประเทศไทยควรจะมีกี่โครงข่าย แต่ผู้ประกอบการจะรู้ดีว่าควรจะลงทุนอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล คือการเปิดตลาด ไม่ใช่การปิดตลาด”
เช่นเดียวกับใบอนุญาตประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเน็ตเวิร์ก ช่องรายการ บริการเสริมต่างๆ โมบายทีวี “จะต้องเปิดเสรีทุกไลเซ่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี”
“กสทช. จะต้องเปิดเสรีการให้ไลเซ่นทีวีดิจิทัลทุกประเภท เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ รายใหม่ในธุรกิจบรอดแคสต์เข้าสู่ตลาด เพราะผลประโยชน์ของประเทศชาติ อยู่ที่การเปิดตลาดใหม่ และสร้างผู้ประกอบรายใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่คุ้มครองรายเก่า ที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว”
แม้แผนแม่ กสทช. จะประกาศใช้ไปแล้ว โดยกำหนดสูตรคืนคลื่น ในระยะไม่เกิน 5-10-15 ปี หาก กสทช.ต้องการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับผู้ประกอบการบรอดแคสต์ ควรจะกำหนดแผนเรียกคืนคลื่นมาจัดสรรในระบบดิจิทัลใหม่ทั้งหมด เพราะแผนแม่บทระบุว่า ไม่เกินระยะเวลา 5-10-15 ปี เท่ากับว่าสามารถเรียกคืนก่อนเวลาดังกล่าวได้เช่นกัน
โดย : รัตติยา อังกุลานนท์ กรุงเทพธุรกิจ