ประธานสภาวิชาชีพข่าว ร่วมเวที “ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนวคิดในการกำกับดูแลกันเองในประเทศไทยเปรียบเทียบมาตรฐานนานาชาติ” พร้อมเห็นด้วยกับแนวทางการกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพสื่อ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung) จัดประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนวคิดในการกำกับดูแลกันเองในประเทศไทยเปรียบเทียบมาตรฐานนานาชาติ
โดยมี Dr.Wolfgang Schulz ผู้อำนวยการสถาบันฮานส์ เบรโดว มหาวิทยาลัยฮัมบูรก์ , Dr.Peng Hwa Ang ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านอินเตอร์เน็ทแห่งประเทศสิงคโปร์ , ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทย, คุณสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย , คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้เข้าร่วมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การกำกับดูแลกันเอง ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในครั้งนี้
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า อาชีพทุกอาชีพมีองค์กรกำกับดูแลและออกใบอนุญาต ยกเว้นวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้การกำกับดูแลกันเองสามารถแบ่งเป็น 1.สภาวิชาชีพที่เป็นนิติบุคคล มีกฎหมายรองรับ โดยแต่ละสาขาควบคุมกันเอง 2.ไม่มีการรวมตัวเป็นสภาวิชาชีพ แต่มีการกำกับดูแลกันเอง โดยอาศัยอำนาจรัฐ และ 3.สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ มีคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพกันเอง
ประธานสภาวิชาชีพฯ กล่าวต่อว่า การจะเป็นองค์กรวิชาชีพที่ดีได้ต้องอาศัยองค์ประกอบคือมีกระบวนการองค์กรควบคุม หมายถึงวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ องค์ประกอบและอำนาจของกรรมการที่อยู่ในองค์กร และมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพ คือ 1. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้รับบริการ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ 2.เพื่อส่งเสริมคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพ 3.เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานหรือสร้างมาตรฐานให้แก่วิชาชีพนั้นๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม 4. สร้างศรัทธา การยอมรับยกย่องในสังคมอันจะนำมาซึ่งเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพ
“มวลชนในอนาคตอาจไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักวิชาชีพ เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เปิดกว้างให้ทุกคนเป็นนักสื่อสารได้ แต่สิ่งที่จะพิสูจน์การทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีคือความเป็นมืออาชีพ”
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ยังกล่าวว่า กสทช.จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยต้องมีลักษณะขององค์กรที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย พร้อมสร้างความเท่าเทียมระหว่างการปกป้องวิชาชีพและผู้บริโภค เพราะขณะนี้ยังพบความเหลื่อมล้ำมากระหว่างสื่อประเภทธุรกิจ สาธารณะ และสื่อชุมชน ทั้งด้านการคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์คนในวิชาชีพและผู้รับข่าวสาร ในขณะเดียวกันเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเองแล้วต้องพยายามจัดรวมกลุ่มกันให้ได้ และองค์กรกำกับดูแลกันเองต้องไม่มีเสรีภาพมากจนเกินไป เพราะอาจจะล้มเหลว จึงต้องมีเกณฑ์และประยุกต์ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และการกระตุ้นจิตสำนึกและจริยธรรมของสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
“สื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบ การกำกับดูแลกันเองย่อมต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเป็นตัวตั้ง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราละเลยไม่ได้เลยคือการคุ้มครองผู้เสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการกำกับดูแล และต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์กรวิชาชีพที่จะกำหนดนั้น นอกจากนี้องค์กรเหล่านี้ต้องมีความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ”
นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ อดีตกรรมการฝ่ายจริยธรรม สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง กล่าวว่า ปัจจุบันการโฆษณาเกินจริงในสื่อชนิดต่างๆ มีมากขึ้นโดยเฉพาะเคเบิลท้องถิ่น ทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชน ซึ่งล้วนแต่ลิดรอนสิทธิผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบวิชาชีพหวังเพียงรายได้ การกำกับดูแลกันเองโดยผ่านองค์กรหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะสำเร็จหากมีเงินทุนและมีหน่วยงานหลักขับเคลื่อน แม้ปัจจุบันกลุ่มวิชาชีพต่างๆจะมีองค์กรกำกับดูแลกันเองแล้วก็ตาม
Dr.Peng Hwa Ang ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านอินเตอร์เน็ทแห่งประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า Self- regulation อุตสาหกรรมควบคุมกันเอง มีปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการกำกับดูแลตนเองในสื่อ ดังนี้ 1.เป็นเรื่องแรงจูงใจในภาคอุตสาหกรรม ถ้ามีแรงจูงใจที่ชัดเจนก็จะนำไปสู่ความสำเร็จ ถ้าหากมีการละเมิดกฎใดๆก็จะมีการลงโทษจริง 2.ตลาดภาคอุตสาหกรรมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น 3.ต้องมีความเชื่อใจกันในระดับหนึ่ง 4.ต้องมีการควบคุมขั้นสุดท้ายโดยรัฐบาล โดยการใช้กฎหมาย
Dr.Wolfgang Schulz ผู้อำนวยการสถาบันฮานส์ เบรโดว มหาวิทยาลันฮัมบูรก์ กล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองขึ้นอยู่กับคุณภาพ การกำกับดูแลกันเองควรมีระเบียบการคุ้มครองผู้เยาว์ การกำกับดูแลกันเองควรมีการกำกับดูแลสื่อโดยรัฐในระดับหนึ่งด้วย ทั้งนี้หัวใจสำคัญในการประสบความสำเร็จในการกำกับดูแลจะต้องมีผู้เล่นที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม ต้องมีหน่วยงานเหมือนเป็นตัวจัดการ ต้องมีองค์กรหนึ่งตั้งขึ้นมา เพื่อผลัดดันและคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ถ้าทุกภาคส่วนและประชาชนเห็นว่าผลประโยชน์ได้รับการตอบสนองรายการต่างๆมีคุณภาพ และต้องโปร่งใส ชัดเจน สำหรับ Self- regulation สามารถนำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ คือ เรื่องของการโฆษณาและเรื่องของการปกป้องคุ้มครองเด็ก