Home » ข่าวความเคลื่อนไหวสื่อ

‘สื่อไทย’ยุคปรับตัว เมื่อเทคโนโลยีไล่ล่าคนข่าว

Author by 2/07/12No Comments »

“การปรับตัว ของสื่อไทยเป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน คือ “ผู้ที่ปรับตัวได้จึงอยู่รอด” ซึ่งช่วงนี้องค์รวมทั้งประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม ทั้งระบบกิจการสื่อสาร อยู่ในช่วงการปรับตัวสู่ระบบนิเวศใหม่ของระบบสื่อใหม่ เห็นสัญญาณที่ชัดเจนบางส่วน เช่น การปรับตัวของธุรกิจสื่อไทยหลายองค์กรก้าวสู่โลกดิจิทัลแบบก้าวกระโดดจาก สื่อเก่าสู่สื่อใหม่”
ถือเป็นเรื่องถกเถียงกันมานานในวงการสื่อมวลชนถึงสื่อใหม่ที่จะเป็นช่องทาง ในการสื่อสาร ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายสำนักข่าวมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มช่องทางการ สื่อสาร ขณะเดียวกันยังมีสื่อใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปริมาณของผู้ส่งสารที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร และผู้เสพข่าวเองจะรู้เท่าทันสื่อเหล่านั้นได้อย่างไร?
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านนิวมีเดียและสื่อสารมวลชน และอาจารย์พิเศษระดับอุดมศึกษา มองว่า มี 3 บริบทหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ 1. เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด ได้พัฒนาการจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัล และการรวมตัวกันของเทคโนโลยี สื่อ สารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม ตลอดจนการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรืออุปกรณ์สื่อสารดิจิทัลพกพาเชื่อมต่อกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือ    2. โลกาภิวัตน์ของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกลายเป็นตลาดของสินค้าไอทีโลก และยังเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกอีกด้วย และ 3. คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการใช้สื่อรูปแบบใหม่ในสังคม โดยผู้รับสารเป็นผู้เลือกและกำหนดเวลา ช่องทาง วิธีการ ในการเปิดรับสารเพื่อเข้าถึงสื่อเอง ตามความสนใจรวมถึงความสะดวกของผู้ใช้งาน
การปรับตัวของสื่อไทยเป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน คือ “ผู้ที่ปรับตัวได้จึงอยู่รอด” ซึ่งช่วงนี้องค์รวมทั้งประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม ทั้งระบบกิจการสื่อสาร อยู่ในช่วงการปรับตัวสู่ระบบนิเวศใหม่ของระบบสื่อใหม่ เห็นสัญญาณที่ชัดเจนบางส่วน เช่น การปรับตัวของธุรกิจสื่อไทยหลายองค์กรก้าวสู่โลกดิจิทัลแบบก้าวกระโดดจาก สื่อเก่าสู่สื่อใหม่
สิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนคือ ความรู้และความเข้าใจถึงธรรมชาติของสื่อใหม่ ตลอดจนภาพกว้างของกิจการสื่อใหม่ต่อจากนี้เป็นต้นไปและในอนาคต 5-10 ปีเช่น จากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นแอพพลิเคชั่น มีรายละเอียดมากต้องทำความเข้าใจถึงแก่น และกระบวนการสื่อสารเทคนิควิธีการที่จะใช้เพื่อให้เกิดผลสูงสุด เท่าที่ดูหลายสำนักพิมพ์ทำได้ดี แต่บางแอพพลิเคชั่นสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการกระโดดสู่แอพพลิเคชั่นคือ การแปลงไฟล์ จากหนังสือพิมพ์กระดาษ เป็นพีดีเอฟไฟล์เท่านั้น
จุดอ่อนของสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารของไทย คือ “ไร้ทิศทาง” ไม่มีแผนพัฒนาในอนาคต ควรมีการวางให้เป็นระบบ 3-5 ปี, 5-10 ปี, 10-20 ปี ว่าจะก้าวไปเช่นไร ขณะเดียวกันคนทำข่าวหนังสือพิมพ์ปัจจุบันแทบหาข่าวประเภทเชิงสืบสวนไม่ได้ ถ้าลองเอาหนังสือพิมพ์ 2-3 ฉบับ ไม่ว่าจะฉบับที่ตีพิมพ์หรือออนไลน์ในข่าวเรื่องเดียวกัน บ่อยครั้งที่แทบไม่เห็นความแตกต่าง แม้จะเป็นข่าวประเภทเอาไมค์จ่อให้นักการเมืองพูด จึงไม่มีความลึกของข้อมูล ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลและที่มาที่ไปอย่างไร
ธรรมชาติของสื่อยุคใหม่ที่โดดเด่นเฉพาะเจาะจงและเทคโนโลยีการสื่อสารระบบดิ จิทัลทำให้การนำเสนอข้อมูลมีมิติเชิงซ้อนได้มากขึ้น เช่น การนำเสนอข่าวหรือเหตุการณ์สำคัญบนหน้ากระดาษหรือหน้าจอแบบสื่อเก่ามีข้อ จำกัดที่จำนวนหน้า เวลา หรือมีเพียงหน้าจอเดียว แต่ในโลกดิจิทัลสามารถนำเสนอภาพนิ่ง เสียง ข้อความ และสามารถลิงก์ไปยังข้อมูลอื่น ๆ ได้อีก
“ปัจจุบันนักข่าวสายพันธุ์ใหม่ต้องพัฒนาตนเองให้สามารถสืบข่าว เขียนข่าว เขียนสคริปต์ข่าว ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อคลิปและส่งข่าวได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในการทำข่าวระดับนานาชาติ เช่น ในเหตุการณ์ความรุนแรงในอาหรับ ที่นักข่าวหนึ่งคนได้รับ ไอโฟน, สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป ลงสนามข่าว ทำข่าวส่งกลับสำนักข่าวทั้งรูปแบบเนื้อหา ภาพ รวมถึงรายงานภาพสดผ่านวิดีโอ”
ข้อดีของเทคโนโลยีดิจิทัล คือ มีช่องทางและผู้ประกอบการจำนวนมากขึ้น แต่คำว่า “จำนวนมากขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าสื่อจะมีคุณภาพมากขึ้น” ประสบการณ์ของคนไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาคงชัดเจนต่อกรณีวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียมที่ผุดขึ้นมา สื่อที่ดี ๆ มีคุณภาพและจริยธรรมมีส่วนหนึ่งต้องชื่นชมยกย่อง แต่ปัญหาคือมีสื่อที่อาศัยช่องทางเทคโนโลยีและช่องว่างทางกฎหมาย ผนวกกับความหย่อนยานของรัฐ เปิดช่องทางขายสินค้าโฆษณาเกินจริง ปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชัง รายการล่อแหลมขัดต่อศีลธรรม นี่คือภาพผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
หากรัฐและผู้ประกอบการไม่ร่วมมือกันจัดระเบียบให้ชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเชิงอำนาจนิยมแต่หมายถึงการจัดระเบียบตามกรอบนิติรัฐ กฎหมาย และการหารือปรึกษาหามาตรการกับสภาวิชาชีพ และหน่วยงาน สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคต่าง ๆ
สำหรับผู้บริโภคควรส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่พลเมืองมากขึ้น รวมถึงครอบครัว ภาคส่วนคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านมาพยายามสร้างเสริมองค์ความรู้เท่าทันสื่อ ช่วยรณรงค์คุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังทำงานได้ในสภาวะจำกัด เพราะขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
การปรับตัวถือเป็นเรื่องธรรมชาติของทุกสิ่ง ซึ่งในภาวะเช่นนี้ผู้เสพสื่อควรวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร เพราะไม่เช่นนั้นอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว.


‘สื่อ’ในมุมมองของคนรุ่นใหม่
อรนลิน หอบุตร นักศึกษาปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การปรับตัวของสื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เป็นไปตามเทคโนโลยีบ้าง สังคม เศรษฐกิจบ้าง ส่วนจุดด้อยของสื่อใหม่อาจเป็นการทำงานที่ต้องการความรวดเร็วสูงทำให้เกิด ความผิดพลาดได้ เพราะเคยเห็นข่าวออนไลน์หลายชิ้นที่มีคำผิด
การติดตามข่าวสารของเพื่อน ๆ และตัวเองส่วนใหญ่จะผ่านมือถือสมาร์ทโฟน เนื่องจากมีการไหลของข้อมูลข่าวสารอย่างมากมาย รวดเร็ว ผ่านช่องทางออนไลน์ และโมบายมากขึ้น อุปกรณ์ในการรับข้อมูลข่าวสารจะติดตัวผู้รับสารเสมอ เพราะฉะนั้นการเปิดรับจะทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามความต้องการ

ส่วนตัวแล้วมองว่าสื่อแบบเก่าข้อมูลข่าวสารเคลื่อนตัวช้ากว่า แต่ก็มองว่าค่อนข้างแม่นยำถูกต้องมากกว่า แต่ขาดสีสันหรือแอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ ๆ อย่างที่สื่อใหม่มี อย่างข่าวในหนังสือพิมพ์ถ้าอ่านในกระดาษก็จะมีเนื้อข่าว ภาพประกอบขาวดำ หรือสี แต่ถ้าออนไลน์อาจจะมีข่าวกับคลิปประกอบซึ่งดึงดูดได้มากกว่า
ด้าน สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล นักศึกษาปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งจบการศึกษาให้ความเห็นว่า คนทำสื่อมีความตื่นตัวในการพยายามนำเสนอข้อมูลผ่านช่องทางใหม่ ๆ กันมากพอสมควร แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและความชำนาญด้านเทคโนโลยี จึงทำให้มีเพียงบางสื่อเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นของสื่อไทย คือ คนในแวดวงมีความตื่นตัว กระตือรือร้นในการศึกษาข้อมูล ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของคนไทยที่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ส่วนจุดด้อย คือ สื่อหัวเล็ก ๆ ยังไม่ค่อยมีเงินทุนและขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี
“ส่วนใหญ่เราใช้ไอโฟนหรือสมาร์ทโฟนติดตามข่าวสารเป็นหลัก เพราะเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่พกติดตัวได้ จะติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา ข่าวสารจะสามารถแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้ส่งสารได้ ทำให้การเลือกรับสารต้องใช้วิจารณญาณมากขึ้น”
ช่องทางการสื่อสารแบบเก่า ผู้ส่งสารกับผู้รับสารจะแยกบทบาทกันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งอนาคตช่องว่างทางความคิด ทัศนคติ ระหว่างคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจะยิ่งมีมาก ขึ้น เพราะมีแนวทางในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างต่างกันมาก
กมลพร สุนทรสีมะ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 4  กล่าวว่า “สื่อไทยมีการปรับตัวนำเสนอข่าวเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสื่อทีวี แต่ในความรวดเร็วนั้นรู้สึกว่าค่อนข้างฉาบฉวย เพราะมักจะเป็นข่าวตามสถานการณ์รายวันมากกว่าจะวิเคราะห์เจาะลึก เลยมองว่าการดูข่าวเมืองไทยก็ดูไปงั้น ๆ ไม่ได้เอามาคิ วิเคราะห์ให้มาก จนกลายเป็นคนอ่านข่าวส่วนใหญ่จับความสั้น ๆ จากพาดหัวหรือโปรยแล้วคอมเมนต์ด่ากระจาย”
ส่วน ช่องทางใหม่ๆ ที่สื่อขยายตัวนั้นที่ดูมีภาษีมากสุด คือ ดาวเทียม แต่ก็มีอิสระเสรีจนควบคุมค่อนข้างยากและค่อนข้างเป็นข่าวสารที่รุกล้ำ เสรีภาพของคนอยู่มาก และน่ากลัวคือสื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
โดยมากเราติดตามข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะไม่ได้อยู่หน้าจอโทรทัศน์ทุก เวลา และมีหนังสือพิมพ์มาอ่านบ้างเมื่ออยากอ่านอะไรที่อาศัยความช้า การสื่อสารในอนาคตคิดว่าคงต้องไปด้วยความรวดเร็วและอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก ยิ่งขึ้น อาจไปจนถึงดูข่าวได้ตลอดเวลาเสียด้วยซ้ำ
“ส่วนตัวชอบสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะมันลึกมากกว่า เดี๋ยวนี้ว่าง ๆ ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ การอ่านจากสิ่งที่จับต้องได้ เราเรียกว่าละเมียดข่าวสาร คือ เราอ่านจบไม่ได้หยุดแค่นั้นยังคิดต่อด้วย ไม่เหมือนกับบนอินเทอร์เน็ตที่อาศัยอ่านอย่างเร็ว ๆ แบบไม่ค่อยตั้งใจ แต่ก็กลัวว่าอีกหน่อยสื่อหนังสือพิมพ์จะตาย เพราะเด็กยุคหลังคงอ่านจากไอแพดแล้ว เมื่อหมดยุคคนอ่านหนังสือพิมพ์ คงจะอยู่ยาก อีกอย่างบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ เราว่ามันซึมลึกถึงแก่นดี นี่เป็นจุดเด่นของหนังสือพิมพ์”.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 14 พฤษภาคม 2555