อนาคตสื่อทีวียุค กสทช. Content ทำท่าจะไม่ใช่ King?
โดยอดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เทศกาลแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปจบไปแล้ว น่าจะทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในฝั่งกระจายเสียงหรือบรอดแคสติ้ง ได้มีเวลาหายใจหายคอ หันมาสะสางผลพวงจากปัญหาความไร้ระเบียบในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ที่ดำรงอยู่อย่างยุ่งเหยิงให้เข้าที่เข้าทางในระดับหนึ่ง ก่อนจะไปสู่กระบวนการการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อเกิดดิจิทัลทีวีขึ้นจริงๆ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการจัดสัมมนาที่น่าสนใจและสำคัญมากๆ แต่ค่อนข้างเงียบๆ โดยสมาพันธ์ผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์ฯ ในหัวข้อ “สร้าง ความเข้าใจในการประมูลช่องรายการและการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุโทรทัศน์” ที่ห้องประชุม อสมท แต่น่าจะถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ได้ฉายภาพอนาคตโทรทัศน์ได้แจ่มชัดขึ้น
อนาคตโทรทัศน์ไทยในสายตาของ พ.อ.ดร.นทีน่าจะมีเหลือแค่ 3 ประเภทหลักๆ เท่านั้น
Digital TV : โทรทัศน์ประเภทนี้จะมาแทนที่โทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินที่เป็นระบบอนาล็อก แต่คงจะใช้เวลาการเปลี่ยนผ่านประมาณ 10 ปี (และรอให้สัมปทานโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 หมดอีกประมาณ 8-9 ปี) จุดแข็งของดิจิทัลทีวีจะแนะนำการใช้คลื่นความถี่สาธารณะแบบดิจิทัล ที่สามารถไปได้หลายแพลตฟอร์ม
Cable TV : โทรทัศน์บอกรับสมาชิกประเภทนี้ นอกเหนือจากการให้บริการช่องรายการโทรทัศน์แล้ว น่าจะมุ่งไปสู่การให้บริการบรอดแบรนด์ควบคู่ไปด้วย
Sattelite TV : โทรทัศน์ประเภทนี้เป็นกิจการที่ไม่ได้คลื่นความถี่ ที่จะต้องมีการจัดสรรหรือประมูล ทำให้ยังมี Capacity บน ทรานสปอนเดอร์ดาวเทียมที่มีไม่จำกัดในการขยายช่องรายการและต้นทุนดำเนินการ ไม่สูงนัก แล้วยังสามารถออกอากาศในขอบเขตที่กว้างขวางมากกว่าโทรทัศน์ประเภทอื่น
แต่ในความเห็นของผมยังมีอีก 2 ประเภท ที่น่าจะอยู่ในนิยาม “ช่องโทรทัศน์” ที่มีการเผยแพร่ภาพต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงได้เช่นเดียวกันกับโทรทัศน์ 3 ประเภทแรก คือ โทรทัศน์ที่ส่งผ่าน “อินเทอร์เน็ต” ที่เรียกว่า IPTV และ “เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ” ที่เรียกว่า Mobile TV แต่ทั้งสองอย่างนี้อาจจะเป็น “ช่องรายการ” เดียวกันกับโทรทัศน์ 3 ประเภทตามความเห็นของ ดร.นที ที่ใช้อินเทอร์เน็ตและมือถือเผยแพร่ควบคู่ไปกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ในลักษณะ Multi-Platform หรืออาจจะเป็น IPTV และ Mobile TV อย่างเดียวก็ได้
โดยในงาน 12 ปี Nation Channel : Digital Media Landscape 2012 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.อ.
ดร.นทีบอกว่า กสทช.น่าจะออกใบอนุญาตการให้บริการทีวีออกเป็น 5 ประเภท คือ Infrastructure Provider (โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก) Network Provider (ผู้ให้บริการโครงข่าย) Frequency Spectrum , Service Provider (บริการช่องรายการ) และ Application Provider (บริการประยุกต์)
แล้วฉายภาพอนาคตโทรทัศน์ไทยไว้ได้อย่างสนใจมากๆ โดยมองจากสภาพปัจจุบันเป็นหลักว่าโทรทัศน์แต่ละประเภทมีผู้เล่นที่เป็น Supply Chain ใครบ้าง
Cable TV มีผู้เกี่ยวข้องหลักๆ เริ่มจาก Infrastructure การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง Network Provider เป็นเจ้าของผู้ให้บริการเคเบิลที่มีอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 500 ราย และ Service Provider เจ้าของช่องรายการที่เจ้าของเคเบิลทำเองหรือซื้อช่อง เลือกดึงลงมาจากทีวีดาวเทียมที่ออกอากาศแบบ Free to Air และเจ้าของช่องรายการท้องถิ่นที่มาอาศัยเครือข่ายของเคเบิลทีวี
Sattelite TV มีผู้เกี่ยวข้องหลักๆ เริ่มจาก Infrastructure ดาวเทียมไทยคม ดาวเทียม NSS6 และดาวเทียมอื่นที่มีฟุตพรินท์ประเทศไทย Network Provider เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียม PSI, BIG4 ฯลฯ และ Service Provider เจ้าของช่องรายการที่มีอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 200 รายและรวมช่องรายการจากต่างประเทศอีกร่วม 200 ราย
IPTV มีผู้เกี่ยวข้องหลักๆ เริ่มจาก Network Provider บริษัท ทศท จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท จำกัด (มหาชน) ฯลฯและ Service Provider เจ้าของช่องรายการอีกเช่นเคย
Digital TV มีผู้เกี่ยวข้องหลักๆ เริ่มจาก Infrastructure ที่เป็นเจ้าของสถานที่ เสา อาคาร แล้วไปสู่ Network Provider ผู้ให้บริการโครงข่ายที่ กสทช.บอกว่าจะให้ใบอนุญาต 4 ราย และปลายทางไปถึงผู้ชม Service Provider เช่นเดิม
หากดูจากการให้บริการโครงข่ายและเครือข่ายทุกรูปแบบเดิมและดิจิทัลทีวีแล้ว ปลายทางที่จะไปถึงผู้บริโภคได้ คือ Content หรือ Service Provider เจ้าของช่องรายการโทรทัศน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น Content น่าจะเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญมากที่สุด หรือ Content is The King
แต่ฟังไปฟังมาดูเหมือนว่า Service Provider หรือ ผู้ผลิตคอนเทนท์ทำท่าจะโดน “รีดเลือดจากปู” ที่เป็นการประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาตั้งต้นค่อนข้างสูงเพื่อจะเอาไป “อุดหนุน” กล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีให้แพร่หลายเร็วขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่คงต้องแย้ง กสทช.ว่าหากตั้งต้นด้วยแนวคิดประมูลให้แพงแบบนี้ คงจะทำให้ผู้ผลิตคอนเทนท์แบกภาระต้นทุนสูงจนไม่สามารถนำเงินไปผลิตคอนเทนท์ให้มีคุณภาพได้อีกแล้ว
ทำไม กสทช.คิดแต่ว่าจะเอาเงินจากการประมูลคลื่นให้มากๆ เพื่อนำไปอุดหนุน หรือ Subsidize ราคากล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีให้ราคาถูกลง
แต่ ทำไมไม่คิดว่าจะเอาเงินจากการออกใบอนุญาต “ผูกขาด” โครงการข่ายเดียวของการแพร่ภาพดิจิทัลทีวีให้มีเงื่อนไข “เงินอุดหนุน” ราคากล่องสัญญาณดิจิทัลทีวีบางส่วน
ลอง คิดวิธีทำให้ต้นทุนการผลิตกล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวีภาคพื้นดิน หรือแม้กระทั่งกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม ที่เป็นดิจิทัลเหมือนกันถูกลงในอีกหลายๆ วิธี เช่น ส่งเสริมการลงทุนลดหย่อนภาษีให้โรงงาน การยกเว้นนำเข้าชิ้นส่วนที่มาผลิต ฯลฯ
อย่าให้เป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” อีกเลย ผู้ ผลิตคอนเทนท์เคยถูกขูดรีดจากเจ้าของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีด้วย “ค่าเช่าเวลา” ที่แพงกว่าต้นทุนการผลิตรายการและบางรายยังต้องไปจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับ “ผู้อำนวยการสถานี” เพื่อจะได้ ลงผังรายการ หรือ ไม่หลุดผังรายการ
แต่คราวนี้ เมื่อ Media Landscape กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ยุคดิจิทัลทีวี ดูเหมือนว่า “ผู้ผลิตคอนเทนท์” ถ้าหากต้องการจะเป็นเจ้าของช่องรายการดิจิทัลทีวี จะต้องกำเงินก้อนโตไม่น้อยกว่าช่องละ 500-600 ล้านบาท (อ้างอิงคำพูด ดร.นทีในการพูดที่ อสมท) ไปประมูลคลื่นความถี่ที่มีอายุ 15 ปี และยังจะต้องจ่าย “ค่าใช้โครงข่าย” กับ Network Provider ที่ กสทช.จะออกใบอนุญาต 4 รายแล้วกำหนดค่าเช่าใช้เท่ากัน
ถ้าหากดิจิทัลทีวีสามารถเข้าถึงครัวเรือนไทยได้ 20 ล้านครัวเรือนโดยทันที ในวันที่มีการประมูลคลื่นในเดือนสิงหาคม 2556 ราคาประมาณนี้คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก เมื่อเทียบกับมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี ที่เป็นของทีวีอนาล็อก 4 ช่องเท่านั้น (ช่อง 3,5,7,9) แต่ดิจิทัลทีวีประเภทธุรกิจจะมีประมาณ 35 ช่องรายการย่อมจะต้องแย่งเม็ดเงินกันอุตลุด มิหนำซ้ำยังมี “ข้อเสียเปรียบ” ฟรีทีวีอนาล็อกที่สามารถเข้าถึงคนดูเกือบทุกครัวเรือนอยู่แล้ว
คำถาม คือ ดิจิทัลทีวีจำนวน 35 ช่องธุรกิจที่ กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นจะสามารถเข้าไปแบ่งเค้ก “งบโฆษณา” จากฟรีทีวี 4 ช่องได้สักแค่ไหน ถ้าหากการเข้าถึงครัวเรือนไทยกว่าจะได้ 80% ของเมืองใหญ่ตามแผนแม่บทของ กสทช.จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี
ลองเทียบกับสถานการณ์ของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่มีอยู่ประมาณ 200 ช่อง เมื่อเดือนเมษายนทางบริษัทเนลสันได้ลองเก็บข้อมูลจำนวนครั้งของสปอตโฆษณาใน 21 ช่องรายการที่ได้รับความนิยมจากคนดู และสามารถเข้าถึงคนดูได้มากกว่า 50-60% ของครัวเรือนไทย ส่วนแบ่งโฆษณายังประมาณแค่ 11% เม็ดเงินโฆษณาโทรทัศน์หรือประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้นเอง
ถ้าหากสนามแข่งขันระหว่างฟรีทีวีแบบอนาล็อกกับดิจิทัลทีวียังไม่เท่าเทียมกัน ทำให้มองอนาคตของการประมูลดิจิทัลทีวียังไม่ค่อยสดใสมากนัก
ผมอยากจะเสนอเงื่อนไขบางอย่างในการประมูลดิจิทัลทีวี เพื่อ “กดดัน” ให้เจ้าของฟรีทีวีแบบอนาล็อกไม่ได้เปรียบตามอายุสัมปทานไปอีกร่วม 10 ปี คือ การกำหนดเงื่อนไขผู้มีสิทธิการประมูลคลื่นความถี่ดิจิทัลทีวีควรจะเป็นสิทธิของรายใหม่ ส่วนผู้รับสัมปทานฟรีทีวีที่ใช้คลื่นสาธารณะแบบอนาล็อกอยู่แล้ว 2 ราย คือ ช่อง 3 กับช่อง 7 และหน่วยงานรัฐอีก 2 ราย คือ อสมท กับกองทัพบก ควรจะถูกจำกัดสิทธิด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เพื่อลดความได้เปรียบเดิมให้หมดอายุเร็วขึ้น
เช่น หากฟรีทีวีรายเดิมแบบอนาล็อกจะเข้าประมูลคลื่นดิจิทัลทีวีจะต้องยอมลดอายุ สัมปทานเดิมลง เพื่อจะเร่งกระบวนการการ “คืนคลื่นความถี่” ให้กลับมาอยู่ในมือ กสทช.เร็วขึ้น แล้ว กสทช.จะนำมา “จัดสรร” เพื่อให้เกิดความธรรมในการแข่งขันและทำให้เกิดประโยชน์สาธารณะได้มากขึ้น
คณะกรรมการ กสทช.จะมีความกล้ามากแค่ไหน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านฟรีทีวีแบบอนาล็อกจะกำหนด “เงื่อนไข” หรือทำอย่างไร ไม่ให้เจ้าของช่องฟรีทีวีแบบอนาล็อกมีความได้เปรียบไปอีกเกือบ 10 ปี มิฉะนั้น การเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีแบบดิจิทัลก็แทบจะไม่ได้แตกต่างจากการ “ผูก ขาด” ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยที่มีผู้เล่นเป็นสถานีโทรทัศน์ ที่สามารถกำหนดชะตากรรมของผู้ผลิตคอนเทนท์ ยัดเยียดโฆษณาและผังรายการที่มีสัดส่วนรายการที่ไม่ได้สร้างปัญญาให้ สังคมมากกว่ารายการคุณภาพที่มักจะ “หลุดผัง” หรือไม่มีวันอยู่ในผังรายการที่เป็นอย่างนี้มายาวนานร่วม 30-40 ปี