ถึงเวลาพา”วิทยุชุมชน”เข้าสู่กฏระเบียบ – คู่ขนาน
ถึงเวลาพา”วิทยุชุมชน”เข้าสู่กฏระเบียบ – คู่ขนาน
http://www.dailynews.co.th/technology/178305
“วิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน” หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ “วิทยุชุมชน” เกิดขึ้นมาในประเทศไทยราว 10-15 ปี ก่อนมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า วิทยุชุมชน เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2540 ต้องการปฏิรูปการใช้ประโยชน์ของคลื่นความถี่วิทยุ ดังนั้นจึงเป็นจุดกำเนิดของวิทยุชุมชน กระทั่งปี 2552 มีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 5,000 สถานีทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดการตระหนักว่าควรมีกระบวนการกำกับดูแลเพื่อทำให้การใช้งานคลื่นความถี่เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปด้วยดี
กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 56 กสทช. โดย กสท. ได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงรอบแรก โดยมอบใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจำนวน 515 สถานี แบ่งเป็นใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทกลุ่มบริการธุรกิจ 404 สถานี ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทกลุ่มบริการสารธารณะ 67 สถานี และใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทกลุ่มบริการชุมชน 44 สถานี
พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า การมอบใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงถือเป็นวันประวัติศาสตร์เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการให้ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการสามารถออกอากาศภายใต้กฎ กติกา ตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการ พ.ศ.2555 ที่ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2555 ซึ่งประกาศกำหนดให้กลุ่มผู้ที่ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ ในลักษณะชั่วคราว กลุ่มผู้รับใบอนุญาตตามประกาศ กทช. และกลุ่มผู้ยื่นคำขอใบอนุญาตตามประกาศ กทช. (เดิม) ทั่วประเทศ เข้ามายื่นขออนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ โดยใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการที่กสทช.ให้วันนี้เป็นลักษณะชั่วคราว มีระยะเวลา 1 ปี
“กิจการกระจายเสียงภาคประชาชนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นกิจการที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะนำความรู้ความบันเทิงเข้าถึงคนไทยและเป็นช่องทางที่คนไทยเข้าถึงง่ายที่สุด”
ปัจจุบันมีวิทยุชุมชนที่มาขึ้นทะเบียนกว่า 7,000 สถานี หากทุกสถานีมายื่นขอใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียง พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า จะสามารถออกใบอนุญาตดังกล่าวได้ครบภายใน 2-3 เดือน และเมื่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงได้ใบอนุญาตดังกล่าวแล้วต้องดำเนินกิจการอยู่ภายใต้กฎ และกติกา คือ ต้องนำเครื่องส่งไปตรวจสภาพ การให้บริการต้องไม่ทำให้คลื่นรบกวนกิจการวิทยุอื่น ๆ และการประกอบกิจการต้องพัฒนาไปสู่การประกอบกิจการวิทยุที่ดี
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังเปิดรับเอกสารการยื่นขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนที่ สำนักงาน กสทช. ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 17 ม.ค. 56 และจะจัดงานรับเอกสารการยื่นขอทดลองฯ รอบสุดท้ายในวันที่ 15-17 ม.ค. 56 ที่สำนักงาน กสทช.
น้ำเพชร จันทา
@phetchan