ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. ๒๕๕๒
ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. ๒๕๕๒
ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๖ ได้มีบทบัญญัติสนับสนุนการจัดตั้งกลไกควบคุมกันเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพทางด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พุทธศักราช ๒๕๕๑ มาตรา ๓๙ ยังส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม นับว่าเป็นการยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพและกิจการวิทยุกระจายสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อการรับรู้ข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ทั้งในส่วนของเจ้าของสถานี ผู้ได้รับใบอนุญาต บรรณาธิการข่าว ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าฝ่ายข่าว หรือผู้มีอำนาจทำการแทนของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพฯ พร้อมทั้งลงนามท้ายบันทึกความเข้าใจให้จัดทำธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อสถาปนา สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขึ้น
ข้อ ๑ ธรรมนูญนี้ เรียกว่า “ธรรมนูญสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ธรรมนูญจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย เฉพาะกรณีที่ข้อความที่มีการระบุถึงเท่านั้น
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๔ ให้มีองค์กรอิสระควบคุมกันเอง เรียกชื่อว่า สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชื่อย่อว่า “ส.ข.ว.ท.” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The News Broadcasting Council of Thailand” ชื่อย่อว่า “NBCT”
ข้อ ๕ องค์กรสมาชิก ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในสังกัดองค์กรสมาชิก ยอมรับ ผูกพันและปฏิบัติตามธรรมนูญฉบับนี้ โดยเคร่งครัด
ข้อ ๖ ในธรรมนูญนี้
“วิทยุ” หมายถึง สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือรายการทางสถานีวิทยุ ทั้งนี้ ให้รวมถึงการทำให้ปรากฏเป็นเสียง เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด ที่เป็นการเสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็น โดยสถานี หรือรายการนั้นด้วย
“โทรทัศน์” หมายถึง สถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกและการกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทั้งนี้ ให้รวมถึงการทำให้ปรากฏเป็นเสียงและภาพ เพื่อสื่อความหมายด้วยวิธีอื่นใด ที่เป็นการเสนอข่าวโดยทั่วไปและความคิดเห็น โดยสถานีหรือรายการนั้นด้วย
“สภาวิชาชีพ” หมายถึง สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
“กรรมการ” หมายถึง กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
“สมาชิก” หมายถึง องค์กรสมาชิกสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และผู้ประกอบวิชาชีพข่าวในองค์กรสมาชิกนั้นด้วย
“ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว” หมายถึง เจ้าของสถานี ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ บรรณาธิการ ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าฝ่ายข่าว และให้หมายความรวมถึง ผู้ประกอบการด้านข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และผู้ปฏิบัติงานด้านข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ด้วย
“ผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์” หมายถึง บรรณาธิการ หัวหน้ากองบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหารหรือตำแหน่งควบคุมและดำเนินการงานกองบรรณาธิการหรือรายการข่าวที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น และให้หมายความรวมถึง ผู้สื่อข่าว ผู้เขียนข่าว ผู้เขียนบท ผู้ถ่ายภาพ ผู้ตัดต่อภาพผู้จัดทำกราฟฟิก ผู้ประกาศข่าว พิธีกร ผู้ที่ทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการหรือฝ่ายข่าวหรือรายการข่าว ผู้ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการผลิตและออกอากาศข่าว หรือบุคคลอื่นตามที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกำหนด
ข้อ ๗ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ให้มีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิก ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว และผู้ปฏิบัติงานข่าว
(๒) ส่งเสริมเสรีภาพ และสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๓) ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
ข้อ ๘ สภาการวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก และผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในสังกัดสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่น ซึ่งตราขึ้นตามธรรมนูญนี้ หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ให้การศึกษาอบรมด้านวิชาการแก่ผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ตามความจำเป็น
(๓) เผยแพร่ ประกาศ รายงานการประชุม งาน คำวินิจฉัย และคำสั่งของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยต่อสาธารณะเป็นประจำ
(๔) ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานตามหลักวิชาชีพแก่สมาชิก
ข้อ ๙ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าบำรุงจากสมาชิก
(๒) ทรัพย์สินในกรณีที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๓) รายได้อื่นจากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๔) ดอกผลจากทรัพย์ตาม (๑) (๒) และ (๓)
(๕) เงินทุนจากกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุนที่เรียกชื่ออื่น แต่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
หมวด ๒
สมาชิก
ข้อ ๑๐ สมาชิกแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ สมาชิกที่ผู้บริหาร เจ้าของ หรือบรรณาธิการข่าวผู้มีอำนาจเต็มของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์หรือรายการข่าวและรายการที่เกี่ยวเนื่องกับข่าว หรือสมาคมวิชาชีพด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้ลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพ เรื่องการจัดตั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพ และยังคงดำเนินกิจการข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นั้นอยู่ต่อเนื่องตลอดมา
(๒) สมาชิกสามัญ ได้แก่ องค์กรสมาชิกที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ข้อ ๑๑ สมาชิกมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนกิจกรรมของสภาวิชาชีพและการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
(๒) ส่งเสริมและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในสังกัดให้ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่น ซึ่งตราขึ้นตามธรรมนูญหรือตามที่คณะกรรมการกำหนด รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกจัดทำแนวปฏิบัติทางจริยธรรมของแต่ละองค์กร โดยให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
สมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่นโดยเคร่งครัด
สมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพที่สังกัดสมาชิก ฝ่าฝืนข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติอื่น ถือว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพและให้บังคับตามหมวด ๕
ข้อ ๑๒ สมาชิก พ้นจากสมาชิกภาพเมื่อ
(๑) ลาออก
(๒) เลิกกิจการ หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกกิจการ
(๓) ยุติการออกอากาศ
(๔) ไม่ปฏิบัติตามมติของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการทั้งหมดให้พ้นจากสมาชิกภาพ
การพ้นสมาชิกภาพตาม (๓) ให้สมาชิกยังคงสถานภาพสมาชิกต่อไปอีก ๖ เดือน หากไม่สามารถหรือประสงค์จะกลับมาออกอากาศภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง
หมวด ๓
คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ข้อ ๑๓ ให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” จำนวน ไม่เกินสิบเก้าคน ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไม่เกินสิบสองคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขาอาชีพต่างๆ อีกเจ็ดคน ทั้งนี้ กรรมการจะต้องไม่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานท้องถิ่น พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ยกเว้นข้าราชการบำนาญ
กรรมการที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและวิทยุโทรทัศน์ให้ถือเกณฑ์สัดส่วนดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าของ หรือผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ หรือผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือไม่เกิน สี่คน
(๒) บรรณาธิการ หรือตัวแทนผู้มีอำนาจจากกองบรรณาธิการ ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือไม่เกิน สี่คน
(๓) ผู้ปฏิบัติงานข่าวหรือผู้ประกาศข่าวในสังกัดสมาชิก ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือไม่เกิน สี่คน
ให้กรรมการตาม (๑) (๒) และ (๓) มาจากกลุ่มผู้ประกอบการข่าววิทยุและโทรทัศน์ไม่เกินกลุ่มองค์กรละหนึ่งคน และในแต่ละประเภทต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพจากสมาชิกก่อตั้งเกินกว่ากึ่งหนึ่ง
(๔) ให้กรรมการตาม (๑) (๒) และ (๓) เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ อีกเจ็ดคน จากสาขาอาชีพต่อไปนี้ ได้แก่ กฎหมาย วิชาการด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เด็ก-สตรีหรือผู้ด้อยโอกาส องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรวิชาชีพอื่น
ในกรณีจำเป็น อาจไม่นำคุณสมบัติของคณะกรรมการตามวรรคแรก มาใช้บังคับกับการได้มาซึ่งกรรมการตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) แต่ต้องไม่เกินสี่คน และไม่เป็นข้าราชการการเมือง
ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยคนหนึ่ง รองประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยสองคน และเลขาธิการคนหนึ่ง กับกรรมการตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น และเหมาะสม
ให้ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นผู้กระทำการแทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก แต่ประธานอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้
ให้รองประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยคนที่หนึ่งหรือคนที่สองกระทำการแทนเมื่อประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยหรือรองประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วแต่กรณี หากประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยหรือรองประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยคนที่หนึ่งและคนที่สองไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการผู้มีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นการชั่วคราว
ให้เลขาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการทั้งปวงของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
วิธีการได้มาซึ่งกรรมการในวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ข้อ ๑๔ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปีนับแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้งตามข้อ ๑๓ วรรคสาม และจะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ข้อ ๑๕ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๑๒
(๕) องค์กรที่สังกัดหยุดดำเนินกิจการ หรือกรรมการจากองค์กรนั้นย้ายสังกัด เฉพาะกรณีกรรมการที่มาจากข้อ ๑๓ (๑) (๒) และ (๓)
(๖) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และคณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(๗) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๘) ต้องจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๙) เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
ข้อ ๑๖ กรณีที่มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระให้ดำเนินการให้มีผู้มาดำรงตำแหน่งแทนตามประเภทของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งในข้อ ๑๒ เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหกสิบวันและให้กรรมการที่ได้รับเลือกใหม่อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๗ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยทุกสองเดือน และกรรมการจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนมิได้
ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยอาจเรียกประชุมเมื่อมีเหตุผลสมควร หรือโดยคำร้องขอของกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดก็ได้
การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงถือเป็นองค์ประชุม และให้ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยทำหน้าที่ประธานการประชุม
การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุม เว้นแต่การลงมติเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในสังกัด ประพฤติผิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ และต้องเป็นการประชุมลับ
ข้อ ๑๘ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยตามวัตถุประสงค์
(๒) พิจารณาการเป็นสมาชิก
(๓) แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาหรือช่วยทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องที่ได้รับมอบหมายตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เว้นแต่กิจการที่มีลักษณะหรือสภาพที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยไม่อาจมอบหมายให้กระทำแทนได้
(๔) ออกข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ และข้อบังคับอื่น ตามที่กำหนดในธรรมนูญนี้ รวมทั้งข้อบังคับตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๕) พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาและข้อขัดแย้ง หรือปัญหาใดที่มิได้ตราไว้ในธรรมนูญนี้หรือปัญหาการบังคับใช้ธรรมนูญนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุด
หมวด ๔
การพิจารณาเรื่องร้องเรียน
ข้อ ๑๙ ผู้ได้รับความเสียหายจากข้อความ เสียง หรือภาพที่ปรากฏในข่าวหรือรายการข่าวที่ผลิตโดยสมาชิกหรือจากพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ที่สังกัดสมาชิก ซึ่งผู้เสียหายเห็นว่าขัดต่อข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อสถานีหรือผู้ผลิตรายการนั้นโดยตรงเสียก่อน เพื่อให้สถานีหรือรายการนั้นดำเนินการบรรเทาความเสียหายตามควรแก่กรณี
ข้อ ๒๐ เมื่อผู้เสียหายได้ดำเนินการตามข้อ ๑๙ แล้วถูกปฏิเสธหรือเพิกเฉยที่จะดำเนินการใด ๆ จากสถานีหรือผู้ผลิตรายการซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหาย หรือเมื่อผู้เสียหายเห็นว่าการบรรเทาความเสียหายของสถานีหรือผู้ผลิตรายการตามข้อ ๑๙ ไม่เป็นที่พอใจจนเห็นได้ชัด ผู้เสียหายมีสิทธิร้องเรียนเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการได้ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับทราบความเสียหายนั้น
การยื่นเรื่องร้องเรียนให้ทำตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๒๑ เรื่องที่คณะกรรมการจะรับไว้พิจารณาดำเนินการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
(๑) เรื่องที่ได้รับคำร้องเรียนจากผู้เสียหายตามข้อ ๒๐ หรือ
(๒) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับข้อความ ภาพ หรือเสียง ที่ปรากฏในสถานีหรือรายการที่เป็นสมาชิก หรือจากพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ที่สังกัดสมาชิก ขัดต่อข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ถ้าคณะกรรมการมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ก็ให้แจ้งให้ผู้กล่าวหาร้องเรียนทราบพร้อมด้วยเหตุผล ผู้กล่าวหาร้องเรียนมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันรับทราบคำวินิจฉัย เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยไปเป็นประการใดแล้วให้ถือเป็นที่สุด
ข้อ ๒๒ คณะกรรมการอาจไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาดำเนินการในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เรื่องที่ศาลรับฟ้องในประเด็นเดียวกันและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว หรือ
(๒) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเดียวกับเรื่องที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยเป็นที่สุดไป
แล้วและไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งข้อกล่าวหา หรือ
(๓) เรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เสียหายทราบเรื่อง หรือเกินเก้า
สิบวัน
นับแต่วันเกิดเหตุ เว้นแต่คณะกรรมการจะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีผลกระทบต่อเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์
ข้อ ๒๓ เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับเรื่องไว้พิจารณา ในการพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องที่มีการกล่าวหาร้องเรียน หากคณะกรรมการไม่ดำเนินการเอง ให้กระทำดังนี้
(๑) ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ดำเนินการแทน หรือ
(๒) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจให้ดำเนินการ
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วยการนั้น
ข้อ ๒๔ เมื่อคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ได้ตรวจสอบและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาให้คู่กรณีทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พิจารณาเสร็จ หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา ให้ยื่นคำคัดค้านต่อคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องแล้วแต่กรณีภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณา
ในกรณีที่มีการคัดค้านผลการพิจารณาตามวรรคแรก ให้คณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรับอุทธรณ์พิจารณาต่อไปโดยเร็ว ถ้าไม่มีการคัดค้านให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยต่อไป
ข้อ ๒๕ ให้คณะกรรมการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และจะมีผู้ทรงคุณวุฒิตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วยหรือไม่ก็ได้ รวมแล้วจำนวนไม่เกินเจ็ดคน เพื่อพิจารณาและดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ในกรณีที่มีการคัดค้านผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ตามข้อ ๒๔
เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยพิจารณาต่อไป
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยถือเป็นที่สุด
หมวด ๕
ความรับผิดทางจริยธรรม
ข้อ ๒๖ เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิก หรือผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ในสังกัดสมาชิกละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งเป็นหนังสือให้สถานีหรือผู้ผลิตรายการที่ถูกร้องเรียน เผยแพร่ข้อความ เสียงหรือภาพตามที่ผู้ร้องเรียนหรือได้รับความเสียหายต้องการในระยะเวลาและช่วงเวลาที่เหมาะสมภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยนั้นโดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและผู้ร้องเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
(๒) ในกรณีผู้ประพฤติผิดเป็นผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ให้ส่งคำวินิจฉัยไปยังต้นสังกัดของผู้นั้น เพื่อดำเนินการลงโทษ แล้วแจ้งผลให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยทราบโดยเร็ว
(๓) ในกรณีที่เห็นสมควร สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยอาจตักเตือน หรือตำหนิ และเผยแพร่คำวินิจฉัยนั้นต่อสาธารณะด้วยก็ได้
หมวด ๖
การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญ
ข้อ ๒๗ การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญนี้ จะกระทำได้จากการเสนอของกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดโดยทำเป็นหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการก่อนการประชุมตามข้อ ๑๗ วรรคสอง ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน มติให้แก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญนี้ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
ข้อ ๒๘ ธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๙ ในวาระเริ่มแรก ให้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการชั่วคราวของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ไปจนกว่าจะจัดตั้งสำนักเลขาธิการของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อ ๓๐ เพื่อประโยชน์ในการสถาปนาสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยให้มีรากฐานที่มั่นคงและเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง จึงให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยชุดแรก มีวาระในการตำแหน่งเป็นระยะเวลา ๓ ปี นับแต่วันที่มีการประชุมคณะกรรมการครั้งแรก
——————————————————————————-